คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5123/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแร่ฯ มาตรา 76 และ 77 มิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้สัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับตั้งแต่ที่โจทก์จำเลยตกลงกัน ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งหากรัฐมนตรีไม่อนุญาต การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวก็อาจเป็นพ้นวิสัยเท่านั้นหาใช่สัญญายังไม่เกิดเพราะยังไม่ได้รับคำสั่งอนุญาตจากรัฐมนตรีไม่ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญารับช่วงทำเหมืองหินและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะอ้างเหตุที่จำเลยเข้าทำเหมืองเสียเองเป็นการละเมิดก็ตามแต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ตามสัญญาอย่างหนึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยหยุดผลิตและจำหน่ายหิน ให้โจทก์เข้าดำเนินการทำเหมืองแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 344,697,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเช่าช่วงการทำเหมืองหินต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดตากแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดตากรับจดทะเบียนการเช่าช่วงการทำเหมืองให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบหนังสือประทานบัตรเลขที่ 20720/12487 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ของกรมป่าไม้และหนังสืออนุญาตให้เปิดเหมืองรวม 3 ฉบับคืนแก่จำเลยภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนประทานบัตรเลขที่ 12720/12487 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและหนังสืออนุญาตให้เปิดเหมืองของทรัพยากรธรณีจังหวัดตากแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อประมาณปลายปี 2521 จำเลยซึ่งมีอาชญาบัตรจับจองแร่หินอ่อนที่บ้านเขาสว่าง อำเภอ พรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ได้ตกลงกับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการขอออกประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าว เมื่อได้รับประทานบัตรมาแล้วจะให้โจทก์เป็นผู้เช่าช่วงทำเหมือง จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินการขอออกประทานบัตรตามเอกสารหมาย จ.2 ในการนี้โจทก์จึงทำสัญญาจะเช่าเหมืองพิพาทกับจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ดำเนินการขอออกประทานบัตรและได้รับประทานบัตรเลขที่ 20720/12487 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม2522 ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางได้อนุญาตให้เปิดการทำเหมือง ตามเอกสารหมาย จ.6 และเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2522 จำเลยได้ทำสัญญาให้โจทก์เช่าช่วงเหมืองพิพาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย จ.4 สัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาทดังกล่าวเป็นการให้เช่าหรือรับช่วงทำเหมืองตามประทานบัตรซึ่งมีอายุ 25 ปีผู้เช่าช่วงจะดำเนินการผลิตและจำหน่ายหินไม่น้อยกว่าเดือนละ 400 ตันโดยโจทก์จะดำเนินการทำเหมืองด้วยตนเอง ตกลงค่าเช่าเหมืองคิดเป็นตันละ 30 บาท จากจำนวนหินที่ผลิตได้ โจทก์และจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาท ซึ่งตามกฎหมายต้องได้อนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างรอคำสั่งจากรัฐมนตรีดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแล้วเข้าไปผลิตหินเอง และจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ข้อหายักยอกประทานบัตร ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 823/2526 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้จำเลยยังยื่นฟ้องโจทก์เรียกคืนประทานบัตรและหนังสืออนุญาตให้เปิดเหมืองกับหนังสือให้เข้าทำประโยชน์เหมืองพิพาท ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 234/2527 ของศาลจังหวัดสวรรคโลก คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาเพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510ที่ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน การที่ต้องได้รับคำสั่งอนุญาตจากรัฐมนตรีให้รับช่วงการทำเหมืองพิพาทนี้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา ต้องตกลงกันหรือกระทำให้ได้ก่อนเมื่อยังมิได้ทำการเช่นนั้น ถือว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4ยังไม่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 76และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายและให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองให้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควรบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้น สัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องจึงเกิดขึ้นแล้วและมีผลใช้บังคับตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่2761-2765/2517 ระหว่าง นายธวัชชัย หิรัญวัฒน์ศิริ โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดเหมืองแร่อันฮวด กับพวก จำเลย ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งหากรัฐมนตรีไม่อนุญาตการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวก็อาจเป็นพ้นวิสัยเท่านั้นหาใช่สัญญายังไม่เกิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ และข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำขออนุญาตเช่าช่วงต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2522 จำเลยได้ไปยื่นคำขอยกเลิกคำขออนุญาตให้รับช่วงการทำเหมืองพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.7 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่823/2526 ของศาลชั้นต้น โดยรัฐมนตรียังไม่ทันได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่ แม้โจทก์จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตามก็เป็นเพียงเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตของรัฐมนตรีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรียังไม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องก็มีผลผูกพันให้คู่สัญญาไปดำเนินการยื่นคำขออนุญาตรับช่วงทำเหมืองพิพาทตามกฎหมายต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 มีผลผูกพันคู่สัญญาแล้ว ประเด็นต่อไปจึงมีว่า จำเลยเข้าทำเหมืองพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าช่วง จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและเข้าทำเหมืองพิพาทปัญหาจึงมีว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าช่วงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ซึ่งโจทก์นำสืบว่า หลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ไปยื่นคำขอรับช่วงการทำเหมืองพิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางแล้วนั้นโจทก์ได้เตรียมการเปิดเหมืองไว้เรียบร้อยเพียงแต่รอการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เข้าทำเหมืองได้เท่านั้น แต่จำเลยกลับรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์และต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางเป็นเหตุให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางยกเลิกเรื่องคำขอรับช่วงการทำเหมืองระหว่างโจทก์กับจำเลย และจำเลยเข้าไปดำเนินการทำเหมืองเสียเองส่วนจำเลยนำสืบว่าเมื่อทำสัญญาเช่าช่วงแล้ว โจทก์ไม่ดำเนินการทำเหมืองและไม่ชำระค่าเช่าประจำเดือนพฤษภาคม 2522 และมิถุนายน2522 เป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าสัญญาเช่าช่วงทำกันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2522 และได้มีการยื่นคำขออนุญาตรับช่วงทำเหมืองต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางในวันเดียวกัน ตามเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งทางราชการได้อนุญาตให้ทำเหมืองได้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ก่อนทำสัญญาเช่าช่วงแล้ว และเป็นที่เห็นได้ชัดว่าแม้จะได้รับอนุญาตให้เปิดเหมืองได้แล้วก็ตาม เมื่อยังต้องรอคำสั่งอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการรับช่วงทำเหมืองเสียก่อน การที่โจทก์ยังไม่ลงมือผลิตหินก็ย่อมไม่ถือว่าผิดสัญญาแต่อย่างใดเฉพาะอย่างยิ่งที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าประจำเดือนพฤษภาคม 2522 และเดือนมิถุนายน 2522 นั้น ก็เป็นระยะเวลาเพียงเดือนเศษนับแต่วันทำสัญญาทั้งตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่าช่วง กำหนดให้คิดค่าเช่าในอัตราตันละ 30 บาท จากจำนวนหินที่ผลิตได้ ดังนั้นในเมื่อยังไม่ได้ผลิตหินก็ไม่อาจคำนวณค่าเช่าได้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าไม่ได้การที่จำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาทั้ง ๆที่ทำสัญญาให้เช่าช่วงไม่ถึง 2 เดือน โดยโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาเช่นนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ทั้งนี้เพราะจำเลยประสงค์จะเข้าทำเหมืองพิพาทเสียเอง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดผลประโยชน์รายได้จากการเช่าช่วงตามสัญญาท้ายฟ้อง
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญารับช่วงทำเหมืองหินและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้ฟ้องโจทก์จะอ้างเหตุที่จำเลยเข้าทำเหมืองเสียเองเป็นการละเมิดก็ตาม แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ตามสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 จำเลยบอกเลิกสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเนื่องจากยังไม่ครบกำหนดตามอายุสัญญา ตามเอกสารหมาย จ.4 นอกจากจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนการรับช่วงทำเหมืองให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดตากรับจดทะเบียนการเช่าช่วงทำเหมืองให้แก่โจทก์นั้นเป็นการขอบังคับบุคคลภายนอกคดี ทั้งการรับช่วงทำเหมืองยังอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะอนุญาตหรือไม่อีกด้วยจึงไม่สามารถบังคับตามคำขอดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน4,160,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญายื่นคำขอจดทะเบียนเช่าช่วงหรือรับช่วงการทำเหมืองต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดตากให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share