คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตอนต้นของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 61 บัญญัติบังคับไว้ว่า เทศพานิชย์ของเทศบาลให้ตราเป็นเทศบัญญัติแต่ในตอนลำดับต่อมาบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้ เมื่อระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2507 ตราไว้ว่า ผลกำไร อันเป็นรายได้จากการค้าปุ๋ยของสำนักงานปุ๋ย ๆ ส่วนหนึ่งให้ตกเป็นรายได้ ของเทศบาลนครกรุงเทพด้วย และเทศบาลนครกรุงเทพได้ตราเทศบัญญัติงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำปีสำหรับสำนักงานปุ๋ย ๆ ไว้อีกด้วยสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพจึงเป็นเทศพาณิชย์ที่เทศบาลนครกรุงเทพมีรายได้อันเกิดจากการดำเนินกิจการได้รับการยกเว้นไม่ต้องตราเป็นเทศบัญญัติตามมาตรา 61 นอกจากนี้ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 224 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2515 ข้อ 1 รองรับเทศพาณิชย์ที่เทศบาลได้จัดตั้งขึ้นก่อนนั้นให้ถือว่าเทศพาณิชย์นั้นได้ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วย เทศบาลตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพจึงได้ก่อตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 39 บัญญัติห้ามมิให้ทำการมอบอำนาจให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานเทศบาลทำการแทนนายกเทศมนตรีเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการของเทศบาลอันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตามกฎหมายนั้นเท่านั้นส่วนการดำเนินกิจการของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพนั้นได้มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2507 ตราไว้เป็นระเบียบต่างหากว่าให้ตั้ง คณะกรรมการบริหารขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้อำนวยการฯ เป็นผู้บริหาร สำนักงานปุ๋ยซึ่งการตั้งคณะกรรมการบริหารแยกออกต่างหากจากการ บริการกิจการของนายกเทศมนตรี หรือ คณะเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ นี้ ได้รับการเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทยแล้วรวมทั้งได้มีมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานปุ๋ยฯด้วยการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้สำนักงานปุ๋ยฯ โดยผู้อำนวยการ ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยอันเป็นวัตถุประสงค์ที่ตราไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย พ.ศ. 2507 นั้นได้ จำเลยที่ 3 ในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมดูแลกิจการสำนักงานปุ๋ยฯ ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้เป็นพนักงานของเทศบาลนครกรุงเทพดำเนินกิจการดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามหรือขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
สำนักงานปุ๋ยฯ เป็นเทศพาณิชย์และเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เทศบาลนครกรุงเทพ แม้วัตถุประสงค์จะเป็นไปในรูปการค้าปุ๋ยก็ตาม ก็ไม่ถือว่าอยู่นอกวัตถุประสงค์ของเทศบาลนครกรุงเทพเพราะได้ตราไว้แล้วในระเบียบของกระทรวงมหาดไทยซึ่งให้อำนาจเทศบาลนครกรุงเทพ ตั้งสำนักงานปุ๋ยฯ นี้ขึ้น การค้าปุ๋ยจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินงานไป นอกวัตถุประสงค์ของเทศบาลนครกรุงเทพ
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์หนี้ตามสัญญาเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งธนาคารโจทก์ค้ำประกันเป็นอาวัล เป็นการดำเนินธุรกิจการค้าตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์อย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างกับบุคคลผู้เป็นพ่อค้าหรือผู้ค้าที่ได้ซื้อและขายสินค้าอันเป็นปกติธุระตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(7) จึงไม่อาจนำเอาอายุความสองปีหรือห้าปีมาใช้บังคับได้ เมื่อหนี้อันเกิดจากสัญญาดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำเอาบทบัญญัติว่าด้วยอายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 164 ซึ่งกำหนดไว้สิบปีมาใช้บังคับ
หนี้เงินซึ่งในสัญญาได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ปรากฏว่านับตั้งแต่วันผิดนัดจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลยจึงถือว่าดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์นั้นด้วย ซึ่งตามมาตรา 166 บัญญัติไว้ให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างส่งนี้ได้ในอายุความเพียงห้าปี โจทก์หามีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่า 5 ปีไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นทบวงการเมือง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเดิมเป็นเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๒ ได้ตราระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุม และการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๗ ให้ตั้งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพขึ้นเทศบาลนครกรุงเทพจึงจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพขึ้นและแต่งตั้งให้นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ ๔ เป็นรองผู้อำนวยการเมื่อนายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ ลาออก จึงตั้งจำเลยที่ ๔เป็นผู้อำนวยการแทนส่วนจำเลยที่ ๒ ได้แต่งตั้งกรรมการบริหารสำนักงานปุ๋ยดังกล่าว
ครั้นเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ เทศบาลนครกรุงเทพ โดยจำเลยที่ ๓ นายกเทศมนตรี ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ผู้อำนวยการ สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ หรือนายพนม เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ จำเลยที่ ๔ คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำนิติกรรมกับธนาคารซึ่งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ มีเงินฝากอยู่แทนเทศบาลนครกรุงเทพได้ในเรื่องการลงนามในเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศตลอดจนการนำเข้ามาและยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีตามที่สำนักงานปุ๋ยฯ จะต้องชำระเกี่ยวกับการสั่งปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงครั้นวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๒ ได้ตราระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการบางประเภทของเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ ออกใช้บังคับแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินกิจการบางประเภทของเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๙ บางประการ และคงยืนยันให้กิจการที่ดำเนินไปก่อนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินกิจการบางประเภทของเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๙ ให้ถือว่าเป็นอันสมบูรณ์ต่อมาวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๒ ได้ออกคำสั่งตั้งกรรมการบริหารสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพแทนกรรมการบริหารชุดเดิม และเทศบาลนครกรุงเทพได้ขออนุมัติซื้อปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ จากต่างประเทศ โดยวิธีเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและหักโอนบัญชีผ่านธนาคารที่สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ มีบัญชีเงินฝากอยู่ต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ เพื่อขออนุมัติจากจำเลยที่ ๒ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยที่สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพมีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารโจทก์ เมื่อได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ ๒ แล้ว เทศบาลนครกรุงเทพโดยจำเลยที่ ๔ ผู้รับมอบอำนาจได้สั่งซื้อปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ จากประเทศญี่ปุ่นอิตาลี สหรัฐอเมริกา และทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและสัญญาตั๋วสัญญาใช้เงินกับธนาคารโจทก์เกี่ยวกับปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ที่สั่งซื้อตามที่ได้รับอนุมัติดังกล่าวหลายคราว ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๒ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินแต่ละคราว เทศบาลนครกรุงเทพก็ไม่ชำระรวมหนี้ที่ค้างชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑๓,๓๑๑,๘๑๔ บาท ๒๑ สตางค์ ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ จัดตั้งกรุงเทพมหานคร ให้โอนเทศบาลนครหลวงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครและให้โอนกิจการ ทรัพย์สินหนี้ สิทธิ งบประมาณของเทศบาลนครหลวงให้แก่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ แก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๖๑ ข้อ ๓ รับรองว่าสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ ตั้งขึ้นโดยชอบและกรุงเทพมหานครจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการ หนี้สินฯ ดังกล่าวของเทศบาลนครหลวงซึ่งรวมทั้งกิจการของเทศบาลนครกรุงเทพ อันมีหนี้สินและทรัพย์สินของสำนักงานปุ๋ย จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าสินค้า ปุ๋ยดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่ก็เพิกเฉยไม่ยอมชำระ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๑๑๓,๓๑๑,๘๑๔ บาท ๒๑ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีนับแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ ๑ มีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ไม่มีบทบัญญัติให้เทศบาลนครกรุงเทพมีอำนาจหน้าที่ในการค้าปุ๋ยเคมี สำนักงานปุ๋ยตั้งขึ้นโดยอาศัยระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยงานเอกเทศ มีคณะกรรมการบริหาร อยู่ในบังคับบัญชาของนายกเทศมนตรี กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบให้ถือปฏิบัติต่างหาก ทั้งการดำเนินงานธุรกิจของสำนักงานปุ๋ยตลอดจนการจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยมิได้ออกเป็นเทศบัญญัติให้เป็นเทศพาณิชย์การซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสำนักงานปุ๋ยหนังสือมอบอำนาจไม่มีผลบังคับเพราะผู้รับมอบอำนาจไม่ใช่พนักงานเทศบาลและเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้น กระทำไปโดยพลการ เมื่อจำเลยที่ ๔ นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปก่อนหนี้นอกงบประมาณจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัว หากจะฟังว่าจำเลยที่ ๒ อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ ซื้อปุ๋ยเคมีได้ ก็หาได้อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินนอกงบประมาณหรือก่อหนี้โดยผิดระเบียบ คือไม่มีการประกวดราคา ไม่มีสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ ๓และที่ ๔ จึงต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวเช่นกัน จำเลยที่ ๒ ไม่เคยอนุมัติให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือให้ทำสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ไม่ฟ้องภายในกำหนด ๒ ปี หรือ ๕ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราและคิดทบต้น และโดยทรัสต์รีซีทโจทก์เป็นเจ้าของสินค้าปุ๋ย จึงไม่มีอำนาจเรียกดอกเบี้ย โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และคิดดอกเบี้ยเกินกว่า ๕ ปี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๔ ไปทำนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ กับโจทก์หรือบุคคลอื่นจำเลยที่ ๓ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เทศบาลนครกรุงเทพสำนักงานปุ๋ยดำเนินกิจการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีส่วนร่วมในการบริหารของสำนักงานปุ๋ย แต่เนื่องจากสำนักงานปุ๋ยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในการติดต่อกับบุคคลภายนอกจึงต้องมีการเสนอจากคณะกรรมการบริหารขึ้นมาตามลำดับถึงจำเลยที่ ๓ ในฐานะนายกเทศมนตรี เพื่อลงนามในนามเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ กับโจทก์ควรที่โจทก์จะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ ๑ เทศบาลนครกรุงเทพได้ชำระหนี้ค่าสินค้าปุ๋ยให้แก่โจทก์ไปเป็นบางส่วนแล้วหนี้ค่าปุ๋ยตามฟ้องจึงยังไม่ถูกต้อง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากหนี้ค้างชำระเกินกว่า ๕ ปี ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า เดิมเมื่อกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ ๒ อนุมัติให้เทศบาลนครกรุงเทพ จำเลยที่ ๑ จัดตั้งสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพขึ้นนั้นได้แต่งตั้งให้นายแพทย์ แสง สุทธิพงศ์ เป็นประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการ ส่วนจำเลยที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารและรองผู้อำนวยการ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ ลาออกจำเลยที่ ๔ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการแทน จำเลยที่ ๔ สั่งปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศในฐานะเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากเทศบาลนครกรุงเทพโดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์เป็นส่วนตัว โจทก์คิดเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องยังไม่ถูกต้องโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียง ๕ ปี ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๗๘,๙๑๘,๑๒๕ บาท ๑๒ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๕๗,๘๔๖,๔๖๔ บาท ๔๓ สตางค์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นทบวงการเมือง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ขณะที่จำเลยที่ ๑ ยังเป็นเทศบาลนครกรุงเทพและอยู่ในระหว่างใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๒ นั้น กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้เทศบาลนครกรุงเทพจัดตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ขึ้น โดยได้ตราระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๔ ให้เทศบาลนครกรุงเทพถือปฏิบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ กระทรวงมหาดไทยได้ตราระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๗ ให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการดำเนินงานของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้วให้เทศบาลนครกรุงเทพจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์ทำการค้าจำหน่ายปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ มีคณะกรรมการบริหาร มีผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยรองผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยฯ เป็นผู้ดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายใต้การควบคุมของเทศบาลนครกรุงเทพและกระทรวงมหาดไทย และให้สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพรับโอนกิจการของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์มาดำเนินการต่อ เดิมนายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ มีจำเลยที่ ๔ เป็นรองผู้อำนวยการของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ จำเลยที่ ๓ ในฐานะเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ และตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ ด้วยการอนุมัติของกระทรวงมหาดไทยแล้วตามระเบียบได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายแพทย์แสงสุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการและจำเลยที่ ๔ รองผู้อำนวยการ คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำนิติกรรมกับธนาคารที่สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ มีเงินฝากอยู่แทนเทศบาลนครกรุงเทพเกี่ยวกับการสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศได้ ต่อมาเมื่อนายแพย์แสง สุทธิพงศ์ ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยฯจำเลยที่ ๔ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นแทน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ระหว่างที่จำเลยที่ ๔ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยอยู่นั้น จำเลยที่ ๔ ในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเทศบาลนครกรุงเทพตามใบมอบอำนาจ และด้วยการอนุมัติจากระทรวงมหาดไทยให้จัดซื้อปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ จากต่างประเทศด้วยวิธีพิเศษได้สั่งซื้อปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ จากต่างประเทศให้แก่สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ นำเข้ามาทางเรือเพื่อจำหน่ายรวมหลายครั้งตามที่โจทก์บรรยายระบุไว้ในคำฟ้อง ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยที่ ๔ ได้ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์เพื่อขอให้ธนาคารโจทก์ชำระเงินค่าสินค้าปุ๋ยที่สั่งซื้อจากต่างประเทศไปก่อน ต่อมาเมื่อสินค้าปุ๋ยที่สั่งซื้อดังกล่าวส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ ๔ จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับธนาคารโจทก์เพื่อขอหลักฐานใบตราส่งไปขอรับสินค้าปุ๋ยออกจากท่าเรือนำไปจำหน่ายต่อไปโดยให้สัญญากับธนาคารโจทก์ว่า เมื่อจำหน่ายสินค้าปุ๋ยดังกล่าวแล้ว เทศบาลนครกรุงเทพโดยสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนคกรุงเทพจะชำระเงินค่าสินค้าปุ๋ยค่าธรรมเนียมของธนาคารตามที่ธนาคารโจทก์จ่ายทดรองไปก่อนตามสัญญาพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ หลังจากที่สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ โดยจำเลยที่ ๔ ผู้อำนวยการได้รับสินค้าปุ๋ยเคมีที่สั่งซื้อจากต่างประเทศออกจากท่าเรือแล้ว เทศบาลนครกรุงเทพก็ได้ชำระเงินค่าสินค้าปุ๋ย ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ไปแล้วเป็นบางส่วน ส่วนจำนวนเงินที่เหลือธนาคารโจทก์ได้ทวงถามเทศบาลนครกรุงเทพให้ชำระตามกำหนดนัดในสัญญานั้นแล้วเทศบาลนครกรุงเทพก็ไม่ยอมชำระโดยได้มีหนังสือเสนอขอลดหนี้ค่าสินค้าปุ๋ยและขอเวลาผ่อนชำระให้ธนาคารโจทก์ต่อไปอีก แต่ธนาคารโจทก์ไม่ยอมตกลงด้วยในระหว่างที่ธนาคารโจทก์ติดตามทวงถามให้เทศบาลนครกรุงเทพชำระหนี้ค่าสินค้าปุ๋ยดังกล่าวอยู่นั้นต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพกับเทศบาลนครธนบุรี เป็นเทศบาลนครหลวงให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่กิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณของทั้งสองเทศบาลดังกล่าวไปเป็นของเทศบาลนครหลวง ครั้นต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ จัดตั้งกรุงเทพมหานคร ให้โอนเทศบาลนครหลวงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สินหนี้ สิทธิ งบประมาณของเทศบาลนครหลวง พนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่กรุงเทพมหานคร เมื่อเป็นกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ แล้ว ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับหนี้สินค่าปุ๋ยเคมีของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งยังค้างชำระให้แก่ธนาคารต่าง ๆ อยู่ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จแล้วเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าสำนักงานปุ๋ยเป็นหนี้ธนาคารต่าง ๆ ตามหลักฐานจากหนังสือทวงถาม ดังนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (ธนาคารโจทก์) หนังสือที่ ๐๓๙๗/๒๕๑๓ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๓ ทวงหนี้จำนวน ๕๗,๒๒๓,๖๔๓ บาท ๗๙ สตางค์กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่มาจากเทศบาลกรุงเทพเดิมจึงควรรับผิดในหนี้ค่าปุ๋ยที่ธนาคารเรียกร้องมาในหลักการ ส่วนจะรับผิดเท่าใด แค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับหลักฐานการก่อหนี้ที่ธนาคารจะต้องนำมาพิสูจน์ฯลฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบด้วยในชั้นฎีกาคงมีประเด็นตามฎีกาโจทก์ และจำเลยที่ ๑ แต่เพียงว่า
๑. จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างนั้นหรือไม่
๒. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ และ
๓. โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องซึ่งเกินกว่า ๕ ปีได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นข้อที่ ๑. จำเลยฎีกาปฏิเสธความรับผิดไว้หลายประการดังที่ศาลฎีกาจะหยิบยกวินิจฉัยเป็นลำดับไป ดังต่อไปนี้
จำเลยที่ ๑ ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพเป็นเทศพาณิชย์ เมื่อเทศบาลนครกรุงเทพไม่ตราขึ้นเป็นเทศบัญญัติตามที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๖๑ ซึ่งแก้ไขแล้วได้บัญญัติไว้ การจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยฯ ของเทศบาลนครกรุงเทพดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิจารณาแล้ว มาตรา ๖๑ บัญญัติไว้ว่า “เทศพาณิชย์ของเทศบาลให้ตราเป็นเทศบัญญัติ กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้”เห็นว่า แม้บทบัญญัตินี้จะบังคับไว้ว่า เทศพาณิชย์ของเทศบาลให้ตราเป็นเทศบัญญัติไว้ในตอนต้นก็ตาม แต่ในตอนลำดับต่อมาก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ ได้ความจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามเอกสารหมาย จ.๖๗ ตราไว้ว่า ผลกำไรอันเป็นรายได้จากการค้าปุ๋ยของสำนักงานปุ๋ยฯ ส่วนหนึ่งให้ตกเป็นรายได้ของเทศบาลนครกรุงเทพด้วย และในการจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยฯของเทศบาลนครกรุงเทพดังกล่าว เพื่อให้กิจการดำเนินไปด้วยดี รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสำนักงานปุ๋ยฯ เทศบาลนครกรุงเทพ จึงได้ตราเทศบัญญัติงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำปีสำหรับสำนักงานปุ๋ยฯ ไว้อีกด้วยดังปรากฏตามเทศบัญญัติงบประมาณประจำปีรายจ่ายของเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๑๑ และ ๒๕๑๒ เอกสารหมาย จ.๔๔ จ.๔๕ จึงเห็นได้ว่า สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ เป็นเทศพาณิชย์ที่เทศบาลนครกรุงเทพมีรายได้อันเกิดจากการดำเนินกิจการได้รับการยกเว้นไม่ต้องตราเป็นเทศบัญญัติตามบทมาตรา ๖๑ ของพระราชบัญญัติเทศบาลดังกล่าว และนอกจากนี้ยังปรากฏว่า ต่อมาเพื่อเป็นการรองรับเทศพาณิชย์ที่เทศบาลได้จัดตั้งขึ้นมาก่อนนั้น ชอบด้วยกฎหมายเทศบาล ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๔ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑ ความว่า “เทศพาณิชย์ใดของเทศบาลใดซึ่งได้ดำเนินกิจการมาแล้วหรือกำลังดำเนินกิจการอยู่ โดยได้รับอนุมัตจากระทรวงมหาดไทยและดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้ตราขึ้นเพื่อกิจการนั้นทั้งมีหรือเคมีเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเทศบาลนั้นกำหนดงบประมาณหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของงบประมาณกิจการเทศพาณิชย์นั้น ให้ถือว่าเทศพาณิชย์นั้นได้ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยเทศบาลตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้ง”จากบทบัญญัติของกฎหมายและประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นว่า สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพได้ก่อตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ ๑ ฎีกาต่อมาว่า สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งมีจำเลยที่ ๔ ผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยฯ เป็นผู้บริหารแต่ไม่ได้มีฐานะเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล จำเลยที่ ๓ ในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพจึงไม่มีสิทธิจะมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ ๔ ซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานเทศบาลดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยกับธนาคารโจทก์ตามใบมอบอำนาจหมาย จ.๕๔ หรือ ล.๗ เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๓๙ ที่แก้ไขแล้วตามมาตรา ๓๙ ดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “ให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า ต่อมาวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่นายกเทศมนตรีไม่อาจบริหารกิจการได้ ให้นายกเทศมนตรีตั้งเทศมนตรีผู้หนึ่งทำการแทน วรรคต่อมาบัญญัติไว้ว่า การสั่ง การอนุญาต การให้อนุมัติ หรือการปฏิบัติกิจการที่คณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายใด ถ้ากฎหมายนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรี ปลัดเทศบาล หรือรองปลัดเทศบาลทำการแทนคณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณีได้ และในกรณีได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบอำนาจให้พนักงานเทศบาลตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าแผนกขึ้นไปทำการแทนก็ได้” ได้พิจารณาบทบัญญัตินี้แล้ว เห็นว่า มีบทบัญญัติห้ามมิให้ทำการมอบอำนาจให้ทำการแทนนายกเทศมนตรีเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการของเทศบาลอันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตามกฎหมายนั้นเท่านั้น ส่วนการดำเนินกิจการของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพนั้น ได้มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตราไว้เป็นระเบียบต่างหากว่า ให้ตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้อำนวยการฯ เป็นผู้บริหารสำนักงานปุ๋ยฯซึ่งการตั้งคณะกรรมการบริหารแยกออกต่างหากจากการบริหารกิจการของนายกเทศมนตรี หรือคณะเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพนี้ก็ด้วยการเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าก่อนที่จำเลยที่ ๓ จะได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๔ สั่งซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศ รวมทั้งทำนิติกรรมสัญญากับธนาคารเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยแทนเทศบาลนครกรุงเทพ นั้น ได้มีมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานปุ๋ยฯ ด้วยการอนุมัติจากระทรวงมหาดไทยให้สำนักงานปุ๋ยฯโดยผู้อำนวยการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยอันเป็นวัตถุประสงค์ที่ตราไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้นได้ จำเลยที่ ๓ ในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ควบคุมดูแลกิจการสำนักงานปุ๋ยฯ อันเป็นเทศพาณิชย์ของเทศบาลจึงปฏิบัติตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติแล้วดังกล่าวฉะนั้นการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ ๓ ให้แก่จำเลยที่ ๔ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยจึงไม่ต้องห้ามหรือขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวดังจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า สำนักงานปุ๋ยฯ มีคณะกรรมการบริหารและมีวัตถุประสงค์ในการค้าปุ๋ยต่างหากจากเทศบาลนครกรุงเทพ จึงไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานของเทศบาลนครกรุงเทพ และเป็นการดำเนินการไปนอกวัตถุประสงค์ของเทศบาลนครกรุงเทพ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้สินรายนี้นั้น ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า เทศบาลนครกรุงเทพเป็นผู้จัดตั้งสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพขึ้นโดยอาศัยระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๐๗ ด้วยการอนุมัติของกระทรวงมหาดไทย เมื่อจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยขึ้นแล้วเทศบาลยังได้ตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเป็นการรับรองเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสำนักงานปุ๋ยนี้ไว้ด้วย ทั้งตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวยังได้ตราไว้ว่า ผลกำไรจากการค้าปุ๋ยของสำนักงานปุ๋ยฯ ส่วนหนึ่งให้ตกเป็นรายได้ของเทศบาลนครกรุงเทพ แสดงว่าสำนักงานปุ๋ยฯ เป็นเทศพาณิชย์และเป็นหน่วยงานหนึ่งของเทศบาลนครกรุงเทพ ส่วนวัตถุประสงค์แม้จะเป็นไปในรูปการค้าปุ๋ยก็ไม่ถือว่าอยู่นอกวัตถุประสงค์ของเทศบาลนครกรุงเทพเพราะได้ตราไว้แล้วในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งให้อำนาจเทศบาลนครกรุงเทพตั้งสำนักงานปุ๋ยฯ นี้ขึ้น เป็นเทศพาณิชย์อันเป็นหน่วยงานหนึ่งของเทศบาลนครกรุงเทพดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น การจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยตลอดจนการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินงานไปนอกวัตถุประสงค์ของเทศบาลนครกรุงเทพดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาปฏิเสธความรับผิดมานั้นแต่อย่างใด
ในประเด็นข้อ ๒ เกี่ยวกับอายุความ จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ธนาคารโจทก์เป็นพ่อค้าหรือผู้ค้า ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕(๑)(๗) ซึ่งกำหนดให้มีอายุความสองปีและห้าปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ หนี้ตามสัญญาเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีท และตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งธนาคารโจทก์ค้ำประกันเป็นอาวัลตามฟ้องเป็นการดำเนินธุระกิจการค้าตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์อย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างกับบุคคลผู้เป็นพ่อค้าหรือผู้ค้าที่ได้ซื้อและขายสินค้าอันเป็นปกติธุระตามนัยที่บัญญัติไว้ในอนุ (๑) และ (๗) ของมาตรา ๑๖๕ ดังกล่าวกรณีตามฟ้องโจทก์จึงไม่อาจนำเอาอายุความสองปี หรือห้าปีมาใช้บังคับได้เมื่อหนี้อันเกิดจากสัญญาดังกล่าวตามฟ้องไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำเอาบทบัญญัติว่าด้วยอายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๔ ซึ่งกำหนดไว้สิบปีมาใช้บังคับเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในประเด็นข้อที่ ๓ โจทก์เป็นฝ่ายฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ค้างชำระนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี ได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย เห็นว่า มูลหนี้อันเกิดจากสัญญาตามฟ้องโจทก์เป็นหนี้เงินซึ่งในสัญญาได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ ยังค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์เลยจนบัดนี้ จึงถือว่าดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์นั้นด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ บัญญัติไว้ให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างส่งนี้ได้ในอายุความเพียงห้าปี ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่า ๕ ปี จึงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
สรุปแล้ว ฎีกาโจทก์และฎีกาจำเลยที่ ๑ ทุกข้อฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย

Share