คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16134/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ในฐานะสินสมรสด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์คืนได้ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาแก่โจทก์เป็นเงิน 230,672 บาท และหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกเด็กหญิง ส . และเด็กหญิง ก. โดยนางบุญเรือน ผู้แทนโดยชอบธรรมเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง บิดาจำเลยที่ 1 ซื้อให้นางสาวอรทัย ต่อมานางสาวอรทัยไปทำงานที่จังหวัดอื่น บิดาจึงได้ยกให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2542 บ้านดังกล่าวอยู่ติดกับบ้านบิดามารดาของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาเมื่อปี 2542 จำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหลายครั้ง โดยทำการขายฝากเมื่อปี 2545 ไถ่ถอนเมื่อปี 2547 จากนั้นจดทะเบียนจำนอง ต่อมาไถ่ถอนจำนอง และนำมาขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพิ่งมากล่าวอ้างการทำนิติกรรมครั้งสุดท้าย พฤติกรรมของโจทก์มีพิรุธ ในขณะที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าในวันจดทะเบียนขายฝาก จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเลิกกับสามีนานแล้ว ติดตามสามีมาลงชื่อให้ความยินยอมไม่ได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 แจ้งเช่นนั้นจริง ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ให้การต่อสู้คดี นอกจากนั้นโจทก์ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2543 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 และพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ว่าเป็นการเบิกความไปตามความจริงมารดาของจำเลยที่ 1 ก็ยืนยันกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เลิกร้างกับสามีนานแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมมาตั้งแต่ได้ที่ดินมาทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถนำนิติกรรมได้ ไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงได้ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้รวมเป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นอกจากนั้น จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยร่วมทั้งสองซื้อที่ดินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพราะมีความต้องการจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมอีกเป็นเงินประมาณ 80,000 บาท จึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคแรกตอนท้าย โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคา230,672 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง กรณีไม่สามารถโอนที่ดินกลับมาเป็นสินสมรสได้นั้นเห็นว่า การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกัน กรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่มีคำสั่งเรื่องดังกล่าวตามคำขอดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share