คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคือนาย ส. ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นาย ส. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้งห้าอีก
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มีข้อตกลงว่า “…ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร…” แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันใดให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร ข้อตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้โดยชอบ การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์ซีรีทนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า กรณีจำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้า หรือแม้มิได้นำสินค้าออกขายก็ตาม จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้แนบท้ายแก่ธนาคารโจทก์ โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศตามที่ตกลงไว้ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด นับแต่วันที่ธนาคารโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 และ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้แนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุด ดังนี้ข้อความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า “อัตราสูงสุด” ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า “อัตราสูงสุด” ว่า “ที่ธนาคาร (โจทก์)ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด” จึงมีความหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยมีเจตนาให้เป็นอัตราสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยใน “อัตราสูงสุด” ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 4 หรือเป็นอัตราเดียวกันดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าสัญญาทรัสต์ซีรีทได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนเป็นอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์แล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 18.50 ต่อปี และ 16.50 ต่อปี ซึ่งก็ล้วนเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป(ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลบังคับในขณะคิดดอกเบี้ยนั้นเช่นกัน หลังจากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากจะไม่เกินกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวแล้ว ยังกลับเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามอัตราดังกล่าวตามประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาจนกระทั่งเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง อันทำให้เห็นเป็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โดยอ้างสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ทำนองเป็นเบี้ยปรับก็ตาม แต่ที่ถูกนั้นแม้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ใน “อัตราสูงสุด” ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามสัญญาข้อ 4 ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์การคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากข้อสัญญาเท่านั้น มิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อสัญญาที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นการตกลงใช้เงินจำนวนหนึ่ง หรือค่าเสียหายเพราะเหตุที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจพิพากษาให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 735,046,655.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 517,157,424.49 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ให้นำที่ดินที่จำนองไว้ รวมตลอดทั้งให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 735,046,655.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 517,157,424.49 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยดังกล่าวไม่ชำระ ให้นำที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ หากไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้า แต่สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บังคับได้ไม่เกินวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคาร ส่วนการมอบอำนาจแม้จะเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปดังที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ก็ตาม แต่การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคือนายสุริยะ ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นายสุริยะก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้งห้าอีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าข้อต่อไปเกี่ยวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย โดยจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า วันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 โดยตัวแทนของโจทก์ในต่างประเทศเป็นวันที่ควรนำมาคิดหนี้สินกันจริง จึงควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันดังกล่าว มิใช่อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งยี่สิบสองฉบับ ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้ มีข้อตกลงว่า “…ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร…” แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันใด ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร ข้อตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้โดยชอบ การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีทนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับทั้งยี่สิบสองฉบับ เป็นเท่าใดนั้นโจทก์ก็ได้นำสืบว่าเป็นไปตามบันทึกการคำนวณยอดหนี้ทรัสต์รีซีทแล้ว และที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าโจทก์ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยไม่ถูกต้องนั้น จำเลยทั้งห้าก็มิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างตามคำให้การเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการที่โจทก์เปลี่ยนหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับตามอัตราที่ระบุในเอกสารเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าข้อต่อไปเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ ปรากฏว่าสัญญาทรัสต์รีซีททุกฉบับมีข้อความระบุไว้ในข้อ 4 ว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ได้ขายสินค้าดังกล่าวไม่ว่าจะขายในรูปขายสินค้า วัตถุดิบ หรือในรูปสินค้าสำเร็จรูป หรือนำสินค้าวัตถุดิบมาประกอบ ผลิตแล้วนำออกขาย หรือถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมิได้นำสินค้าออกขายก็ดี หรือถึงแม้ว่าสินค้านั้นจะเป็นสินค้าประเภททุนซึ่งไม่ได้นำออกขายก็ตาม ข้าพเจ้าจะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร (โจทก์) โดยคำนวณเงินต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้าหรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร ตลอดจนยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งในขณะทำหนังสือนี้เท่ากับร้อยละ (ระบุตัวเลขอัตราดอกเบี้ย) ต่อปี แต่ต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ธนาคารจะประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “อัตราสูงสุด”) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้ารวมทั้งเสียค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีทตามหนังสือนี้ทุกอย่างทุกประการ” และมีข้อความระบุไว้ในข้อ 7 ว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา… ข้าพเจ้ายอมให้ธนาคาร (โจทก์) คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุด ดังนี้ข้อความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า “อัตราสูงสุด” ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า “อัตราสูงสุด” ว่า “ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด” จึงมีความหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยมีเจตนาให้เป็นอัตราสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งปรเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยใน “อัตราสูงสุด” ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 4 หรือเป็นอัตราเดียวกันดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีทได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนเป็นอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์แล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 18.50 ต่อปี และ 16.50 ต่อปี ซึ่งก็ล้วนเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลบังคับในขณะคิดดอกเบี้ยนั้นเช่นกัน หลังจากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากจะไม่เกินกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวแล้ว ยังกลับเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามอัตราดังกล่าวตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาจนกระทั่งเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง อันทำให้เห็นเป็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โดยอ้างสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ทำนองเป็นเบี้ยปรับก็ตาม แต่ที่ถูกนั้นแม้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ใน “อัตราสูงสุด” ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามสัญญาข้อ 4 ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุดลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ การคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากข้อสัญญาเท่านั้น มิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อสัญญาที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นการตกลงใช้เงินจำนวนหนึ่งหรือค่าเสียหายเพราะเหตุที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลอาจพิพากษาให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ได้ ดังที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ แต่เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่คิดในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยนี้จากต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึงที่ 16 นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 17 ถึงฉบับที่ 22 นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2541 วันที่ 3 มีนาคม 2541 วันที่ 24 มีนาคม 2541 วันที่ 16 มิถุนายน 2541 วันที่ 23 มิถุนายน 2541 และวันที่ 21 กันยายน 2541 ตามลำดับ เป็นต้นไป ตามที่ปรากฏในบันทึกการคำนวณยอดหนี้ อันเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีทดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงเห็นสมควรแก้ไขการคิดดอกเบี้ยให้เหลือเพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ และที่โจทก์จะประกาศให้มีผลบังคับต่อไปหลังวันฟ้องให้ถูกต้องตามสัญญาทรัสต์รีซีทด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า นอกจากที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 60,000 บาท แทนโจทก์.

Share