แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติอย่างไรในการที่จะต้องตรวจร่างกายหรือจิตใจของโจทก์เสียก่อนจึงจะให้ความเห็นได้ และมิได้บรรยายว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ความเห็นเป็นผลร้ายโดยตรงแก่โจทก์การที่จำเลยซึ่งเป็นแพทย์ได้ให้ความเห็นอย่างเป็นกลางในวิชาความรู้ทางการแพทย์ และมิได้ยืนยันเป็นเด็ดขาดว่าโจทก์เป็นโรคชนิดใด ถือได้ว่าจำเลยให้ความเห็นโดยสุจริตไม่เป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเป็นเท็จอันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์เมื่อการกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ไม่เป็นละเมิด ศาลก็พิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันเป็นเท็จต่อบริษัทบอร์เนียวเทคจำกัด ว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับพนักงานอื่นในแผนกตามภาระหน้าที่ได้เพราะโจทก์เป็นบุคคลที่มีอาการส่อไปในทางจิตผิดปกติหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ทำให้บริษัทบอร์เนียวเทค จำกัดเลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้สร้างเรื่องเท็จร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ให้พนักงานหญิงเข้าไปในห้องทำงานส่วนตัวให้ป้อนผลไม้ จับมือพนักงานหญิงเพื่อเพศสัมพันธ์ บันทึกเทปจับผิดการทำงานของพนักงานทุกคน พูดหยาบคายต่อผู้ใต้บังคับบัญชาบังคับให้พนักงานยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ทราบดีว่าโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 รายงาน กลับสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำบันทึกตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาจำเลยที่ 3สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำบันทึกดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 4วินิจฉัยว่าโจทก์มีอาการผิดปกติทางจิตหรือไม่ จำเลยที่ 4ควรจะตรวจร่างกายหรือจิตใจโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นคนไข้ก่อนจึงจะให้ความเห็น แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ตรวจ กลับทำหนังสือมอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปให้บริษัทบอร์เนียวเทค จำกัด ว่า โจทก์มีความคิด อารมณ์ พฤติกรรมที่ผิดปกติน่าจะเป็นโรคจิตชนิด PARANOIDDISORDER การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ถูกบริษัทเลิกจ้างโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและทางทำมาหาได้ของโจทก์หลายอย่างเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เพียงจำนวน 300,000 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ไม่เป็นละเมิดเพราะออกความเห็นไปตามหน้าที่แพทย์ไม่มีมูลที่โจทก์จะฟ้องร้อง จึงไม่รับฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้รับฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ในฐานะแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป์ น่าจะใช้ดุลพินิจพิเคราะห์โดยละเอียดรอบคอบและต้องตรวจร่างกายหรือจิตใจของโจทก์ซึ่งเป็นคนไข้เสียก่อนแล้วจึงจะลงความเห็นว่าเป็นโรคชนิดใดจำเลยที่ 4 ไม่น่าจะสรุปความเห็นเป็นหนังสือว่าโจทก์เป็นโรคอะไรมอบแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปเสนอต่อจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวเทค จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์จนมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยความเห็นของจำเลยที่ 4 นั้นเห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติอย่างไรในการที่จะต้องตรวจร่างกายหรือจิตใจของโจทก์เสียก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ ทั้งได้ความจากเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานกับโจทก์ เป็นผู้นำบันทึกที่ตนเองทำขึ้นไปขอความเห็นจากจำเลยที่ 4ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เกี่ยวข้องร่วมงานกับโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่อย่างใด โดยไม่ได้นำโจทก์ไปให้ตรวจรักษา และโจทก์ก็ไม่ได้ไปขอรับการตรวจรักษาด้วยตนเอง จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจจะตรวจร่างกายหรือจิตใจของโจทก์ได้ และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 4 จงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ความเห็นเป็นผลร้ายโดยตรงแก่โจทก์หรือไม่ เพราะการที่จำเลยที่ 3 จะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 3 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 4ให้ความเห็นอย่างเป็นกลางในวิชาความรู้ทางการแพทย์ว่าตามอารมณ์และพฤติกรรมของโจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 พรรณนาให้จำเลยที่ 4 ฟังนั้น อาจจะเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิตใจได้5 ประเภท และจำเลยที่ 4 ลงความเห็นว่าอาการของโจทก์น่าจะเป็นโรคประเภทที่สอง และว่าถ้าได้ตรวจผู้ป่วยหรือโจทก์โดยตรงก็อาจจะเป็นโรคชนิดอื่นก็ได้ แสดงว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้ยืนยันเป็นเด็ดขาดว่าโจทก์เป็นโรคชนิดใด จำเลยที่ 4 ให้ความเห็นโดยสุจริตไม่เป็นละเมิด ไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายืน