คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเอง ทั้งฉบับ แต่ไม่ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมอันเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และเมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลจะมีข้อความว่า ป.เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ โดยผู้ทำลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93กรณีไม่อาจฟังว่า ป. เจ้ามรดกทำพินัยกรรมนั้นไว้จริง เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันระหว่าง ป. เจ้ามรดกกับผู้คัดค้านเป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรมเพราะ ป.เจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฎว่า ป. เจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมของ ป. ไม่สมบูรณ์ และ ไม่มีผลตามกฎหมาย และเมื่อ ป.เจ้ามรดก ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของ ป.ทั้งเมื่อไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกผู้ร้องสำนวนแรกกับผู้คัดค้านสำนวนหลังว่าผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านสำนวนแรกกับผู้ร้องสำนวนหลังว่าผู้คัดค้าน
คดีสำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรี พวงระย้า ภริยาของนายปีเตอร์ กรีน ชาวเยอรมันนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรีกับนายปีเตอร์ กรีน ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535ผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์มรดกแต่มิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางเพ็ญศรี และเป็นบุตรบุญธรรมของนายปีเตอร์ กรีนก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายทั้งสองได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอคดีนี้โดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งนายวิเชียร เวชยันต์ชวลิต ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสอง
คดีสำนวนที่สอง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางเพ็ญศรีผู้ตาย ซึ่งทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้าน ขอให้ศาลตั้งนายวิเชียร เวชยันต์ชวลิตผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรี พวงระย้า ผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า นางเพ็ญศรี ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นายวิเชียร เวชยันต์ชวลิต ไม่ใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของนางสาวพรทิพย์ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเปรี่ยมหรือนางเปลี่ยน พวงระย้าและนายวิเชียร เวชยันต์ชวลิต เป็นผู้จัดการมรดกของนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรี พวงระย้า ผู้ตายร่วมกัน กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่า พินัยกรรมที่นางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรี พวงระย้า ทำไว้ตามเอกสารหมาย ค.7 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.7 เป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1657 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน” เมื่อพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.7 ไม่ระบุวัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมอันเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ทรัพย์ของนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรีเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม เมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเพ็ญศรีหรือนางสาวเพ็ญศรีเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปมีว่านายปีเตอร์ กรีน ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารหมาย ค.6 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ค.8 จะมีข้อความว่านายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกเป็นผู้ทำและมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ โดยผู้ทำลง วัน เดือน ปีและลายมือชื่อของตนในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตามแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสารซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ให้ศาลรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวไม่ใช่ต้นฉบับเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง กรณีไม่อาจฟังว่านายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้จริง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกเพราะเหตุนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านในข้อสุดท้ายมีว่านายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดก ได้รับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบว่าเอกสารหมาย ค.9 และคำแปลเอกสารหมาย ค.10 ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันระหว่างนายปีเตอร์ กรีนเจ้ามรดกกับผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรมเพราะไม่ปรากฎว่านายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฎว่านายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน การรับบุตรบุญธรรมของนายปีเตอร์ กรีน เจ้ามรดกจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมาย เมื่อนายปีเตอร์ กรีนเจ้ามรดกไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของนายปีเตอร์ กรีน และเมื่อไม่ปรากฎว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายปีเตอร์ กรีน จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
พิพากษายืน

Share