แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความฎีการ้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฎีกา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2,3 อีกฝ่ายหนึ่งวิวาทกันถึงบาดเจ็บขอให้ลงโทษตาม มาตรา 254,338 จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม มาตรา 254ปรับ 80 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยทั้ง 3 มีบาดเจ็บ ดังนี้จำเลยจะฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 338 บทเดียวโดยกล่าวอ้างถึงตัวจำเลยว่าแพทย์ออกความเห็นว่ารักษาไม่เกิน 1 วันหาย ไม่ใช่หมายถึงผู้ถูกทำร้าย (ตามมาตรา338) และอ้างว่าจำเลยเป็นนักศึกษา ดังนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 เพราะไม่ชัดเจนว่าฎีกาในข้อกฎหมายข้อไหนอย่างไร (จะค้านว่าบาดแผลอีกฝ่ายคือจำเลย 2,3 ไม่ถึงบาดเจ็บก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามจะค้านว่าที่ศาลล่างฟังว่าบาดแผลอีกฝ่ายบาดเจ็บนั้นโดยข้อกฎหมายแล้วถือว่าไม่ถึงบาดเจ็บอาศัย กฎหมายข้อใด อย่างใดจำเลยไม่ได้กล่าว)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านายสมานจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 และนายพัด จำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่ง ต่างสมัครวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันที่หน้าโรงภาพยนตร์สหดาราอันเป็นที่สาธารณสถานขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 254, 338
จำเลยทั้งสามรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 254,338 ให้จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 160 บาท จำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน 20 ปี คงลงโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 58 ทวิ และจำเลยทุกคนรับสารภาพลดให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 59 คงจำคุกจำเลยที่ 1, 1 เดือนปรับ 40 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 80 บาทแต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้ภายใน 3 ปี ตามมาตรา 41, 42 คงปรับสถานเดียว
นายสมานจำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายสมานจำเลยที่ 1 ฎีกา ขอให้ลงโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายอาญา มาตรา 338
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จะฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ข้อกฎหมายที่อ้างอิงจะต้องแสดงให้ชัดเจนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ตามฎีกาของจำเลยเป็นแต่กล่าวถึงตัวจำเลยว่าแพทย์ออกความเห็นว่ารักษาไม่เกิน1 วันหาย (หมายถึงตัวจำเลยผู้ฎีกา)ไม่ใช่หมายถึงผู้ถูกทำร้ายและอ้างว่าจำเลยเป็นนักศึกษาแล้วก็ขอให้ปรับสถานเดียวตามมาตรา 338 ไม่ชัดเจนว่าฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายในข้อไหนว่าอย่างไร จึงให้ยกฎีกา