คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เดินทางไปในที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตามเวลาที่จำเลยที่ 1 นัดส่งมอบยาเสพติดให้โทษแก่สายลับโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เดินทางไปหาสายลับด้วยกัน ขณะที่จำเลยที่ 1 และสายลับส่งมอบสิ่งของให้แก่กันจำเลยที่ 2 ก็อยู้ด้วย เมื่อถูกจับจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพทันที แม้จะค้นไม่ได้ของกลางจากจำเลยที่ 2 เลยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 อยู่ในเหตุการณ์มาโดยตลอดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
การล่อซื้อยาเสพติดเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
การที่จำเลยทั้งสองเตรียมยาเสพติดให้โทษติดตัวมาแล้วขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปส่วนหนึ่ง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดให้โทษของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปส่วนหนึ่งอันมีลักษณะการกระทำต่างกันและต่างขั้นตอนกัน การกระทำของจำเลยทั้งสอง ย่อมเป็นความผิดทั้งมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกรรมหนึ่ง และมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษอีกกรรมหนึ่งด้วย เป็นความผิดต่างกรรมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 91 และริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี ฐานจำหน่าย 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุคนละ 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 มี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยที่ 1 จำหน่าย 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 1,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่… เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน และเมื่อพิจารณาตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 เบิกความรับรองว่าถูกต้อง ที่เกิดเหตุอยู่ตรงบริเวณหน้าร้านแฟมิลี่มาร์ทและอยู่ริมถนน มีแสงสว่างทั้งจากร้านดังกล่าวและไฟฟ้าริมถนน จุดที่พยานโจทก์ซุ่มดูห่างจากจุดที่สายลับเข้าล่อซื้อเพียง 5 เมตร เชื่อว่าพยานโจทก์สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ ประกอบกับพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ คำเบิกความไม่มีพิรุธ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และไปยังที่เกิดเหตุตรงตามสถานที่และเวลาที่จำเลยที่ 1 นัดหมายนำยาเสพติดให้โทษของกลางไปส่งมอบให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อโดยเมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ลงจากรถแท็กซี่ไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตรงไปหาสายลับด้วยกัน ถ้าหากจำเลยที่ 2 ไม่รู้เรื่องมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 จะนำยาเสพติดให้โทษของกลางไปขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมให้จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดของตน และเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพอันเป็นการให้การรับสารภาพทันทียังไม่มีเวลาคิดหาข้อต่อสู้เป็นอย่างอื่น คำให้การที่จำเลยที่ 2 เขียนด้วยตนเองมีข้อความสรุปได้ว่าจำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อน จำเลยที่ 1 นำ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนมาขายให้แก่หญิงคนหนึ่งที่หน้าร้านแฟมิลี่มาร์ท เอามาทั้งหมด 5 เม็ด ขายไป 3 เม็ด เงินที่ได้มาจะแบ่งกันใช้ ก็มีสาระตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานโจทก์ ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถูกบังคับให้เขียน เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพไปด้วยความสมัครใจ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไปพบผู้หญิงในที่เกิดเหตุด้วยเรื่องอะไรนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุผลสนับสนุน ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าขณะที่จำเลยที่ 1 คุยกับผู้หญิง จำเลยที่ 1 อยู่บริเวณตู้ชุมสายโทรศัพท์ ส่วนจำเลยที่ 2 เดินไปซื้อผลไม้ที่บริเวณมุมถนนหน้าร้านมินิมาร์ทแล้วเดินกลับมาอยู่ตรงบริเวณรถเข็นใกล้ตู้โทรศัพท์ซึ่งห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 10 ถึง 15 เมตรนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การเช่นนี้ไว้ในชั้นสอบสวน เพิ่งมาให้การในชั้นพิจารณาจึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักน้อยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และเป็นเพื่อนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 มาเบิกความภายหลังเกิดเหตุนานแล้วจึงอาจเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่นำสายลับมาเบิกความ พยานโจทก์ไม่สามารถทราบว่าจำเลยที่ 2 สามารถรับทราบว่าจำเลยที่ 1 กับสายลับทำอะไรกัน ยาเสพติดให้โทษของกลางและธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อก็ค้นได้จากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 พยานโจทก์จึงตกอยู่ในเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานคือร้อยตำรวจเอกฤทธีและจ่าสิบตำรวจจงเจริญซุ่มดูการล่อซื้อเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่จำเลยที่ 2 เดินทางไปในที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตามเวลาที่จำเลยที่ 1 นัดส่งมอบยาเสพติดให้โทษแก่สายลับโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เดินไปหาสายลับด้วยกัน ขณะที่จำเลยที่ 1 และสายลับส่งมอบสิ่งของให้แก่กัน จำเลยที่ 2 ก็อยู่ด้วย แม้โจทก์จะไม่ได้นำสายลับมาเบิกความก็ไม่ทำให้พยานโจทก์เสียน้ำหนักหรือทำให้เกิดข้อสงสัย และแม้จะค้นไม่ได้ของกลางจากจำเลยที่ 2 เลยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นจำเลยที่ 2 อยู่ในเหตุการณ์มาโดยตลอด ไม่มีข้อเท็จจริงใดทำให้ระแวงสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะร่วมมากับจำเลยที่ 1 โดยบังเอิญเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นแล้ว การล่อซื้อยาเสพติดเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยทั้งสองเตรียมยาเสพติดให้โทษติดตัวมาแล้วขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปส่วนหนึ่ง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดให้โทษของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายยาเสพติดให้โทษดังกล่าวดังกล่าวไปส่วนหนึ่งอันมีลักษณะการกระทำต่างกันและต่างขั้นตอนกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นความผิดทั้งมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกรรมหนึ่ง และมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพตดให้โทษอีกกรรมหนึ่งด้วย เป็นความผิดต่างกรรมกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share