คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1594/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป.โดยมิได้ระบุว่าผู้ร้องเป็นทายาทและได้ให้ความยินยอมด้วย และบัญชีเครือญาติท้ายคำร้องมีข้อความเพียงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของป. กับ อ. เท่านั้น ยังมิใช่กรณีปิดบังทรัพย์มรดกเพื่อฉ้อฉลทายาทอื่น แม้ในคดีที่ผู้คัดค้านพิพาทกับบุคคลอื่นศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ป.แต่ในคดีดังกล่าวไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ป. เพราะเหตุที่ ป.จดทะเบียนสมรสกับ อ. มารดาผู้คัดค้านในภายหลังหรือไม่ ดังนั้นในคดีนี้ศาลชอบที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวซึ่งผู้ร้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โดยตรงได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐ สุริชัยพาณิชย์ ผู้ตาย ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายกับนางอำภา กุลวาณิช บุตรของผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่เกิดจากนางอำภา โดยบิดามารดาสมรสกันภายหลัง ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องมีว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าเป็นทายาท และทายาทอื่นของผู้ตายรู้เห็นยินยอมแล้ว ในบัญชีเครือญาติมิได้ระบุว่าผู้ร้องเป็นทายาทและได้ให้ความยินยอมด้วย แสดงว่าผู้คัดค้านมีเจตนาปิดบังทายาทอื่นอันเป็นการฉ้อฉลทรัพย์มรดกหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านมิได้ระบุข้อความว่า ทายาทอื่นของผู้ตายรู้เห็นยินยอมแล้วไว้ในคำร้องที่ผู้คัดค้านได้ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด ทั้งบัญชีเครือญาติท้ายคำร้องดังกล่าวก็เพียงแต่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายกับนางอำภาเท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีปิดบังทรัพย์มรดกเพื่อฉ้อฉลทายาทอื่น
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่415/2525 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างนางศิริออร์ สุขเจริญ(ผู้คัดค้าน) โจทก์ นางอัมพรหรืออำพร กันหา จำเลย คดีถึงที่สุดแล้วว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย คงวินิจฉัยแต่เพียงว่า ขณะผู้คัดค้านเกิดผู้ตายและนางอาภายังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และคดีดังกล่าวไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ตายและนางอำภาจดทะเบียนสมรสกันภายหลังหรือไม่ ดังนั้นจะถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วว่าผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงไม่ถูกต้อง ส่วนคดีนี้มีประเด็นต่อสู้ขึ้นมาใหม่ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเพราะผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้คัดค้านในภายหลัง เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิขอให้ศาลตั้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
พิพากษายืน.

Share