คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 94 บัญญัติว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 97 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 74 มาใช้บังคับโดยอนุโลม หาใช่มาตรา 84 ไม่ ทั้งกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามมาตรา 84 ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่เป็นอายุความฟ้องร้องคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 95 แต่อย่างใดไม่
จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 นั้น มีอัตราโทษขั้นสูงคือจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 10 ปี ตามลำดับ อายุความฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาความผิดตามมาตรา 147 จึงมีถึง 20 ปี ตามมาตรา 95 (1) และในข้อหาความผิดตามมาตรา 157 มีถึง 15 ปี ตามมาตรา 95 (2) เมื่อคำนวณจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด คือวันที่ 3 เมษายน 2543 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลา 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ามีหน้าที่จัดการเก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3,600 เม็ด ที่ตรวจยึดได้เพื่อส่งมอบต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาทั้งสาม แต่จำเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังเอาเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้จำนวน 3,398 เม็ด ราคาเม็ดละ 150 บาท รวมเป็นเงิน 509,700 บาท เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต และจำเลยที่ 1 ได้เรียกรับทรัพย์สินเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยจะไม่ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยมิชอชด้วยหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 147, 149, 157
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ต่อมาจำเลยทั้งห้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจนจำเลยทั้งห้าพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ตามสำเนาคำสั่งตำรวจภูธรภาค 1 หลังจากนั้นพันตำรวจเอกศุภกิจ ศรีจันทรนนท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรียื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตนเองต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ฯลฯ และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไว้ในวันดังกล่าว หลังจากไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทางอาญา แล้วส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นคดีนี้ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 98 บัญญัติว่า เมื่อจะมีการฟ้องคดีอาญาตามาตรา 97 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 84 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยทั้งห้านับแต่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในกำหนดไม่เกิน 2 ปี เมื่อจำเลยทั้งห้าพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 ซึ่งเกิน 2 ปี โจทก์จึงไม่มีอำจาจฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 98 บัญญัติว่า เมื่อจะมีการฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 97 ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 74 มาใช้บังคับโดยอนุโลมหาใช่มาตรา 84 ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกา ทั้งกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามมาตรา 84 ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่เป็นอายุความฟ้องร้องคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 แต่อย่างใดไม่ คดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 นั้น มีอัตราโทษขั้นสูงคือจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 10 ปี ตามลำดับ อายุความฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาความผิดตามมาตรา 147 จึงมีถึง 20 ปี ตามมาตรา 95 (1) และในข้อหาความผิดตามมาตรา 157 มีถึง 15 ปี ตามมาตรา 95 (2) เมื่อคำนวณจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด คือวันที่ 3 เมษายน 2543 ถึงวันที่โจทก์ฟ้อง คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลา 3 ปีเศษ เห็นได้ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share