คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า ว. หัวหน้าหน่วยงานคดี กองนิติการ สังกัดกรมโจทก์ ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดนับตั้งแต่นั้นด้วย เพราะ ว. และอธิบดีกรมโจทก์ต่างก็ปฏิบัติราชการในหน้าที่ของโจทก์เช่นเดียวกัน เพียงแต่ปฏิบัติงานตามระเบียบการบังคับบัญชาที่แตกต่างกันตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 21 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ในชั้นฎีกา จำเลยกลับฎีกาว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งที่โจทก์ต่างแต่งตั้งได้สอบสวนหาตัวผู้กระทำละเมิดแล้วมีความเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 จึงถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 21 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเดียวกันคือปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แต่ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาแตกต่างไปจากข้อที่เคยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2535 จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ป – 4944 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางหลวงหมายเลข 34 จากด้านจังหวัดชลบุรีมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง แล้วรถเกิดเสียหลักแฉลบไปชนเสาไฟฟ้าแสงสว่างชนิดกิ่งเดียวและเสาป้ายไม้ของโจทก์ซึ่งติดตั้งอยู่ริมถนนดังกล่าว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 + 039 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับความเสียหาย โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 39,423.64 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,145 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ป – 4944 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุ และไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปลายปี 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ซึ่งเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ และค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 15,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า นายวินัย ธีรอภิศักดิ์กุล หัวหน้าหน่วยงานคดีกองนิติการ สังกัดกรมโจทก์ ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดนับตั้งแต่เดือนนั้นด้วย เพราะนายวินัยและอธิบดีกรมโจทก์ต่างก็ปฏิบัติราชการในหน้าที่ของโจทก์เช่นเดียวกันเพียงแต่ปฏิบัติงานตามระเบียบการบังคับบัญชาที่แตกต่างกันตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 21 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ในชั้นฎีกาจำเลยกลับฎีกาว่า คณะกรรมการสอบสวนหาหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งได้สอบสวนหาตัวผู้กระทำละเมิดแล้วมีความเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 จึงถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 21 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเดียวกันคือปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แต่ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาแตกต่างไปจากข้อที่เคยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกา

Share