คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ที่บัญญัติว่า ถ้าสามีภริยาต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกัน ให้ใช้จากสินบริคหณ์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายนั้น มิได้หมายความว่า สามีหรือภริยาไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนอกเหนือไปจากทรัพย์สินที่ระบุไว้นั้น แต่บัญญัติไว้เพื่อให้เห็นว่า ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ การชำระหนี้ย่อมบังคับเอาได้จากทรัพย์ทั้งสองประเภท ผิดกับมาตรา 1479 ซึ่งหนี้ส่วนตัวจะเอาได้จากสินส่วนตัว ต่อไม่พอจึงให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของลูกหนี้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันมา เท่าที่เป็นปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาคงมีเฉพาะหนี้รายที่นายยุทธ ยรรยงยุทธ สามีจำเลยยืมเงินนางสาวเลมียดและนางสาวประยงค์โจทก์กับค่ารักษาพยาบาลที่นางสาวเลมียดจ่ายแทนไป โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดร่วมด้วย เป็นส่วนตัว
จำเลยให้การปฏิบัติ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า หนี้สามรายการนี้เป็นหนี้ร่วม จึงพิพากษาให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยุทธ และในฐานะผู้แทนโดยธรรมของเด็กชายอุ๊ทายาทนายยุทธใช้เงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ที่เกินขึ้นระหว่างสมรสอันเป็นค่ารักษาพยาบาลครอบครัวและหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำการด้วยกันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๒ ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ฉะนั้น จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วม ก็ต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง แล้วตามมาตรา ๒๙๑ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยรับผิดเป็นส่วนตัวจึงชอบแล้ว ที่มาตรา ๑๔๘๐ บัญญัติว่า ถ้าสามีภริยาต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกัน ให้ใช้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายนั้น มิได้หมายความว่า สามีหรือภริยาไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวยนอกเหนือไปจากทรัพย์สินที่ระบุไว้นั้น แต่บัญญัติไว้เพื่อให้เห็นว่าในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ การชำระหนี้ย่อมบังคับเอาได้จากทรัพย์ทั้งสองประเภท ผิดกับมาตรา ๑๔๗๙ ซึ่งหนี้ส่วนตัวจะเอาได้จากสินส่วนตัว ต่อไปพอจึงให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของลูกหนี้ ฎีกาจำเลยไม่มีเหตุจะรับฟังแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น
พิพากษายืน

Share