คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแม้จะมีอักษรโรมันคำว่า”FRUIT” และรูปผลไม้วางรอบกันอยู่เหมือนกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมีอักษรโรมันคำว่า “OFTHELOOM” เป็นส่วนประกอบอีกด้วยเมื่อเรียกขานรวมกันแล้วเป็น 4 พยางค์ คือ “ฟรุ๊ตออฟเดอะลูม”ส่วนของจำเลยเพียงพยางค์เดียวคือ “ฟรุ๊ต”หรือ”ฟรุ๊ตส” อักษรโรมันที่เป็นส่วนประกอบจึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน บุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถอ่านอักษรโรมันก็สามารถเห็นความแตกต่างกันได้ รูปผลไม้ที่เป็นส่วนประกอบก็ยังแตกต่างกันอีก ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า “FRUITOFTHELOOM” และของจำเลยมีคำว่า “FRUIT”สำหรับรูปแบบแรก และมีคำว่า “FRUITS” สำหรับรูปแบบที่สองเป็นส่วนประกอบอีกภาคหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน การเรียกขานก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายจะใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เครื่องหมายการค้าจึงไม่คล้ายกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “FRUITOF THE LOOM” และรูปผลไม้โดยจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 17370ทะเบียนเลขที่ 13022 ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 38 รายการ สินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและสินค้าอื่น ๆ จำเลยได้ลอกเลียนและดัดแปลงเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วนำไปจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 157762 ทะเบียนเลขที่ 107588 ใช้คำว่า “FRUIT”และรูปผลไม้ และคำขอเลขที่ 169716 ใช้คำว่า “FRUITS” และ รูปผลไม้ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 38 เช่นเดียวกับของโจทก์ ทำให้สาธารณชนผู้ซื้ออาจสับสนหลงผิดในสินค้าเพราะเครื่องหมายการค้ามีลักษณะคล้ายกัน โจทก์ได้รับความเสียหายจึงได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่ขอเลขที่ 169716 ของจำเลย แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2494 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “FRUIT OF THE LOOM” และรูปผลไม้อ่านว่า”ฟรุ๊ตออฟเดอะลูม” ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 38 รายการสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 17370 ทะเบียนเลขที่ 13022 เอกสารหมาย จ.3ส่วนจำเลยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “FRUIT” และรูปผลไม้ อ่านว่า “ฟรุ๊ต” สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 38 รายการสินค้าทั้งจำพวกตามคำขอเลขที่ 157762ทะเบียนเลขที่ 107588 ตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์เพิ่งทราบภายหลังจากที่จำเลยได้จดทะเบียนแล้ว จึงไม่มีโอกาสได้ยื่นคำคัดค้านและเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “FRUITS” และรูปผลไม้ อ่านว่า”ฟรุ๊ตส” แปลว่า ผลไม้หลายผล ตามคำขอเลขที่ (ก) 169716เอกสารหมาย จ.7 ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โจทก์ยื่นคำคัดค้าน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้กับของจำเลยที่จะนำมาจดทะเบียนมีลักษณะไม่คล้ายกัน โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3 ของโจทก์ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยตามเอกสารดังกล่าวแม้จะมีอักษรโรมันคำว่า “FRUIT” และรูปผลไม้วางรอบกันอยู่เหมือนกันแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมีอักษรโรมันคำว่า “OF THE LOOM”เป็นส่วนประกอบอีกด้วย เมื่อเรียกขานรวมกันแล้วเป็น 4 คำ หรือ4 พยางค์ คือ “ฟรุ๊ตออฟเดอะลูม” ส่วนของจำเลยเรียกขานเพียงคำหรือพยางเดียวคือ “ฟรุ๊ต” หรือ “ฟรุ๊ตส์” ดังนั้นอักษรโรมันที่เป็นส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงแตกต่างกันทั้งจำนวนคำหรือพยางค์อย่างชัดเจน บุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถอ่านอักษรโรมันก็สามารถเห็นความแตกต่างกันได้ นอกจากนั้นรูปผลไม้ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยยังต่างกันกล่าวคือ ของโจทก์เป็นรูปผลไม้ผลโตวางตรงกลางมีผลไม้ลูกเล็กที่เป็นพวงและไม่เป็นพวงวางอยู่สองข้าง และมีใบไม้รองพื้นคล้ายผลไม้ทั้งหมดวางกองอยู่กับพื้น และมีอักษรโรมันคำว่า”FRUIT OF THE LOOM” วางเป็นแนวโค้งอยู่เหนือกองผลไม้ ส่วนรูปผลไม้ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้ง 2 รูปแบบเป็นรูปส้มผ่าวางหงาย มีผลไม้ลูกกลมขนาดเล็กวางข้างบนโดยเฉพาะรูปแบบแรกยังมีเส้นคู่ขนานโค้งล้อมกองผลไม้ซึ่งมีส่วนปลายด้านล่างโค้งพอประมาณและมีหยักริ้วส่วนปลายทั้งสองคล้ายริบบิ้นและมีอักษรโรมันคำว่า “FRUIT” อยู่ระหว่างเส้นคู่ขนานด้านล่างรูปลักษณะโดยทั่วไปเหมือนผลไม้อยู่ในกระเช้า ส่วนรูปแบบที่ 2มีอักษรโรมันพิมพ์เส้นหนาชัดเจนคำว่า “FRUITS” อยู่ข้างล่างรูปผลไม้ โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า รูปกองผลไม้ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแตกต่างกัน อีกทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า “FRUIT OF THE LOOM” และของจำเลยมีคำว่า “FRUIT”สำหรับรูปแบบแรก และมีคำว่า “FRUITS” สำหรับรูปที่ 2 เป็นส่วนประกอบอีกภาคหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยโดยส่วนรวมจึงแตกต่างกัน การเรียกขานก็แตกต่างกันด้วยดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายจะใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยไม่คล้ายกันและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share