คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตู้นิรภัยมีลูกกุญแจใช้ประจำรวม 2 ดอก โดยจะต้องไขพร้อมกันจึงจะเปิดตู้นิรภัยได้ และมีระเบียบว่าด้วย การรับ การจ่าย การเก็บรักษา และการนำส่งเงิน กำหนดให้หัวหน้ากองคือโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยการเงินหรือผู้ที่หัวหน้ากองมอบหมายถือกุญแจไว้ 1 ดอก และหัวหน้าหน่วยการเงินถือไว้ 1 ดอก ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดถือพร้อมกันทั้ง 2 ดอก แต่โจทก์ไม่ได้ถือลูกกุญแจไว้เลย กลับได้มอบให้ น.ผู้ใต้บังคับบัญชาเก็บไว้ทั้ง 2 ดอก โดยโจทก์มิได้ให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาถือกุญแจแยกไว้คนละดอกตามระเบียบ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้ความระมัดระวังปฏิบัติให้ ถูกต้องตามระเบียบได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวจนเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถจี้บังคับ น.ให้เปิดตู้นิรภัยเอาเงินที่เก็บไว้ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ มิใช่เหตุสุดวิสัย โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
การที่พนักงานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลย แม้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะไม่คัดค้าน ก็ไม่ทำให้การ ฝ่าฝืนระเบียบนั้นกลับกลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยระเบียบขึ้นมาไม่ เมื่อโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยจน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ที่ 811/2536 ลงวันที่ 16 กันยายน 2536 และให้จำเลยใช้เงินจำนวน 291,816.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 173,895 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า… กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายและจำเลยไม่จำต้องคืนเงินที่หักไว้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีวัตถุประสงค์ในการรับทำการขนส่งทั่วไป โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่ปี 2503 ครั้งสุดท้ายโจทก์ทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานธุรการ กองการเงิน สำนักงานใหญ่ (หมอชิต) และโจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยเกษียณอายุเมื่อเดือนตุลาคม 2541 ระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบัญชีและการเงิน กองการเดินรถภาคใต้ ระหว่างปี 2530 ถึง 2536 นางนิตยา รอดเจริญ เป็นพนักงานบัญชีและการเงินและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ที่กองการเดินรถภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ 14 กุมภาพันธ์ 2536 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่นางนิตยาซึ่งมีหน้าที่รับและรวบรวมเงินรายได้จากการจำหน่ายตั๋วและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ กำลังนำเงินรายได้ที่ได้รับในวันดังกล่าวขึ้นไปเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยในห้องทำงานแผนกบัญชีและการเงิน ชั้น 2 ของกองการเดินรถภาคใต้ มีคนร้าย 2 คน บุกรุกเข้ามาในที่ทำการของแผนกบัญชีและการเงิน และใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้นางนิตยาส่งเงินรายได้สำหรับวันอาทิตย์จำนวน 276,848 บาท และยังบังคับให้นางนิตยาเปิดตู้นิรภัยนำเงินรายได้จากการจำหน่ายตั๋วและค่าธรรมเนียมรถต่าง ๆ สำหรับวันศุกร์จำนวน 241,290 บาท และวันเสาร์จำนวน 3,577 บาท ไปด้วย รวมเป็นเงินที่คนร้ายชิงไปทั้งสิ้น 524,056 บาท ต่อมาจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง หลังจากนั้นจำเลยมีคำสั่งที่ 811/2536 ลงวันที่ 16 กันยายน 2536 ให้ทำทัณฑ์บนโจทก์และให้โจทก์รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 2 ส่วนเป็นเงิน 173,895 บาท ให้นางนิตยาทำทัณฑ์บนไว้เช่นกันและใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอีก 1 ส่วน เป็นเงิน 86,947.50 บาท ค่าเสียหายส่วนที่เหลือจำนวน 260,842.50 บาท ให้บริษัทพลังร่วม จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยใช้เงินแก่จำเลย โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขณะเดียวกันจำเลยหักเงินเดือนของโจทก์เพื่อใช้ค่าเสียหายดังกล่าวทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือน เป็นเงินจำนวน 7,245 บาท และวันสิ้นเดือน เป็นเงิน 7,246.25 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป ครั้งสุดท้ายหักชำระเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 รวมเป็นเงินที่จำเลยหักเงินเดือนของโจทก์ไว้ทั้งสิ้น 173,895 บาท ต่อมาโจทก์เกษียณอายุเมื่อเดือนตุลาคม 2541 และจำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้ยืนตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ทราบ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ถือกุญแจสำหรับตู้นิรภัยใบที่ 3 ไว้เอง 1 ดอก และไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา 2 คน ถือกุญแจแยกกันแต่ให้นางนิตยาถือไว้คนเดียวทั้ง 2 ดอกในวันเกิดเหตุ และการที่นางนิตยาเปิดตู้นิรภัยตามที่ถูกคนร้ายขู่เข็ญได้ก็เพราะถือกุญแจไว้ 2 ดอกดังกล่าว ความเสียหายของจำเลยที่ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ไปจึงเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบและความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยไม่ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่คนร้ายชิงทรัพย์ไปนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่าเหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุที่คนร้ายชิงทรัพย์เอาเงินจากตู้นิรภัยไปได้ เนื่องจากตู้นิรภัยใบนี้มีลูกกุญแจใช้ประจำรวม 2 ดอก โดยจะต้องไขพร้อมกันจึงจะเปิดตู้นิรภัยได้ และมีระเบียบว่าด้วยการรับการจ่าย การเก็บรักษา และการนำส่งเงิน พ.ศ. 2534 ข้อ 22 วรรคสอง กำหนดให้หัวหน้ากองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยการเงินหรือผู้ที่หัวหน้ากองมอบหมายถือลูกกุญแจไว้ 1 ดอก และหัวหน้าหน่วยการเงินถือไว้ 1 ดอก ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดถือพร้อมกันทั้ง 2 ดอก ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ถือลูกกุญแจไว้เลย กลับได้มอบให้นางนิตยาผู้ใต้บังคับบัญชาเก็บไว้ทั้ง 2 ดอก โดยโจทก์มิได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถือกุญแจแยกไว้คนละดอกตามระเบียบ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้ความระมัดระวังปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวจนเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถจี้บังคับให้นางนิตยาเปิดตู้นิรภัยเอาเงินที่เก็บไว้ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ มิใช่เหตุสุดวิสัย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า การที่คนร้ายชิงทรัพย์ไปนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของบริษัทพลังร่วม จำกัด แต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดหรือไม่ เห็นว่า การที่คนร้ายสามารถชิงทรัพย์ได้มีเหตุโดยตรงจากการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบและประมาทเลินเล่อดังวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นการที่จำเลยให้บริษัทพลังร่วม จำกัด ร่วมรับผิดไปส่วนหนึ่งนั้นนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อสุดท้ายว่า การที่พนักงานของจำเลยเคยปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบมาตลอดเวลาก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้โดยจำเลยมิได้ทักท้วงคัดค้าน แสดงว่าจำเลยยอมรับการกระทำที่ผิดระเบียบ และไม่ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบด้วยนั้น เห็นว่า การที่พนักงานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย แม้จำเลยจะไม่คัดค้าน ก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนระเบียบนั้นกลับกลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยระเบียบขึ้นมาไม่ เพียงแต่การฝ่าฝืนระเบียบดังข้างต้นยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย และจำเลยยังไม่เคยยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาลงโทษเท่านั้น เมื่อโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่จำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share