คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 10/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๐/๒๕๕๐

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ระหว่าง
คำพิพากษาศาลแพ่ง

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
บริษัท พี.ที.ฟูดส์ แสตนดาร์ดอินดัสทรี จำกัด ที่ ๑ นายไพบูลย์ ก่อเกียรติตระกูล ที่ ๒ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท พี.ที.ฟูดส์ แสตนดาร์ดอินดัสทรี จำกัด ที่ ๑ นายไพบูลย์ ก่อเกียรติตระกูล ที่ ๒ ผู้ร้อง โดยนายภานุ สุขวัลลิ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ องค์การคลังสินค้า โจทก์ ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ เป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ย. ๑๐๓๔/๒๕๔๖ กรณีที่ผู้ร้องที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ จำนวน ๑๔,๙๑๐,๐๐๐ บาท ตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรดปี ๒๕๔๒ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่สับปะรดให้สามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาที่เหมาะสม และผู้ร้องที่ ๑ ทำสัญญาจำนำผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมให้ไว้แก่โจทก์ และโจทก์ทำสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำกับผู้ร้องที่ ๒ ให้เป็นผู้ดูแลและรักษาทรัพย์ที่จำนำให้ปลอดภัย ผู้ร้องที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ชำระเงินคืน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนำ ผู้ร้องที่ ๑ เพิกเฉย และสับปะรดที่จำนำเป็นประกันสูญหายไปจากสถานที่เก็บรักษาทั้งหมด จึงฟ้องให้ผู้ร้องที่ ๑ รับผิดตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนำ และให้ผู้ร้องที่ ๒ รับผิดตามสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ย. ๘๓๓/๒๕๔๘ ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๕,๖๔๙,๙๘๙.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ผู้ร้องที่ ๑ อุทธรณ์คำพิพากษาอย่างคนอนาถา ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ ๑ นำเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาลภายใน ๑๕ วัน ผู้ร้องที่ ๑ เพิกเฉยไม่ชำระเงินภายในกำหนด ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๗ องค์การคลังสินค้า โจทก์ได้ยื่นฟ้องบริษัท สับปะรดปราณบุรี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ๑ นางอัจฉรา อุ่นอนุโลม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ย. ๑๙๘/๒๕๔๗ ให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนำ และให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำ ตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรด ปี ๒๕๔๓ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ร้องทั้งสอง ระหว่างพิจารณาศาลแพ่ง เห็นว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงดำเนินการจัดทำความเห็นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ ศาลปกครองกลางเห็นพ้องกับศาลแพ่งว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีและคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น โจทก์หรือผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า คำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ย. ๘๓๓/๒๕๔๘ ที่ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ดังกล่าวขัดแย้งกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ โดยทั้งสองคดีมีมูลความแห่งคดีและประเด็นพิพาท ไม่แตกต่างกันในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน สำหรับสัญญากู้ยืมเงินตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรดทั้งของผู้ร้องที่ ๑ และบริษัท สับปะรดปราณบุรี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ยืม และมีโจทก์รายเดียวกันเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้กู้ยืมเช่นเดียวกัน ทั้งวงเงินที่ให้กู้ยืมก็เป็นไปตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรดฤดูกาลผลิตปี ๒๕๔๒ – ๒๕๔๓ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ส่วนสัญญาจำนำผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นระหว่างโจทก์กับผู้ร้องที่ ๑ กับสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท สับปะรดปราณบุรี (ประเทศไทย) จำกัด และสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำระหว่างโจทก์กับผู้ร้องที่ ๒ กับสัญญาระหว่างโจทก์กับนางอัจฉรา อุ่นอนุโลม ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน ดังนั้นมูลคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกับคดีระหว่างโจทก์กับบริษัท สับปะรดปราณบุรี (ประเทศไทย) จำกัด และนางอัจฉรา อุ่นอนุโลม คำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้ ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จึงขัดแย้งกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด จนเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการมีคำสั่งเรียกสำนวนคดีของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ย.๘๓๓/๒๕๔๘ และสำนวนคดีของศาลปกครองสูงสุดคำสั่งที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้อง โดยขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีดังกล่าว ขอให้โอนคดีของผู้ร้องทั้งสองไปยังศาลปกครองที่มีเขตอำนาจ เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และขอให้มีคำสั่งให้ศาลแพ่งรอการวินิจฉัยตามคำร้องเสียก่อน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า องค์การคลังสินค้า โจทก์ ให้ผู้ร้องที่ ๑ กู้ยืมเงินตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรดปี ๒๕๔๒ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่สับปะรดให้สามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาที่เหมาะสม โดยผู้ร้องที่ ๑ จำนำผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นเป็นประกัน และโจทก์ทำสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำกับผู้ร้องที่ ๒ ให้เป็นผู้ดูแลและรักษาทรัพย์ที่จำนำให้ปลอดภัย ผู้ร้องที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ชำระเงินคืน และสับปะรดที่จำนำเป็นประกันสูญหาย โจทก์จึงยื่นฟ้องผู้ร้องทั้งสองต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ย. ๑๐๓๔/๒๕๔๖ และศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ย. ๘๓๓/๒๕๔๘ ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๕,๖๔๙,๙๘๙.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ผู้ร้องที่ ๑ อุทธรณ์คำพิพากษาอย่างคนอนาถา ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ ๑ นำเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาลภายใน ๑๕ วัน ผู้ร้องที่ ๑ เพิกเฉย ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ในขณะเดียวกัน องค์การคลังสินค้า โจทก์ได้ยื่นฟ้องบริษัท สับปะรดปราณบุรี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ๑ นางอัจฉรา อุ่นอนุโลม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนำ และให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามสัญญารับดูแลรักษาทรัพย์จำนำ ตามโครงการแทรกแซงตลาดสับปะรดปี ๒๕๔๓ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ร้องทั้งสอง ศาลแพ่งกับศาลปกครองกลางเห็นพ้องกันว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงโอนคดีไปยังศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีและคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น โจทก์หรือผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ขัดแย้งกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการ มีคำสั่งเรียกสำนวนคดีของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ย.๘๓๓/๒๕๔๘ และสำนวนคดีของศาลปกครองสูงสุดคำสั่งที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้อง โดยขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีดังกล่าว ขอให้โอนคดีของผู้ร้องทั้งสองไปยังศาลปกครองที่มีเขตอำนาจ เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และขอให้มีคำสั่งให้ศาลแพ่งรอให้มีการวินิจฉัยตามคำร้องเสียก่อน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความหรือบุคคล ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…” ดังนั้น คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันและจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสองศาล ต่างระบบและศาลทั้งสองศาลนั้นมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแตกต่างกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม อันหมายความรวมถึงจะต้องเป็นคู่ความ หรือคู่กรณีเดียวกันด้วย เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลหนึ่งและจำเลยฟ้องโจทก์ต่ออีกศาลหนึ่งโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันและศาลสองศาลตัดสินแตกต่างกันโดยศาลหนึ่งให้โจทก์ชนะคดี แต่อีกศาลหนึ่งให้จำเลยชนะคดี ดังนี้จะเห็นได้ว่าคู่ความ หรือคู่กรณีเดียวกันไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลใดศาลหนึ่งได้ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายและไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า คำพิพากษาของศาลแพ่ง และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าขัดแย้งกัน มีเพียงโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดียวกัน แต่จำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีมิได้เป็นรายเดียวกัน คู่ความหรือคู่กรณีจึงมิใช่เป็นรายเดียวกัน ทั้งสัญญาซึ่งเป็นมูลความแห่งคดีก็เป็นสัญญาคนละฉบับกัน จึงมิใช่คดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะรับเรื่องไว้พิจารณาได้ คำร้องของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share