คำวินิจฉัยที่ 9/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๐

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดมีนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมีนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ กรุงเทพมหานคร โจทก์ ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล การ์ด ที่ ๑ นางสาวกนกวรรณ ประจวบสุข ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ม. ๑๔๗๕/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๔ ให้ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ในสำนักงานเขตสายไหม และบริเวณโดยรอบ และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินดังกล่าว ระหว่างวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๔ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ ๑ งดเว้นหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ตรวจดูแลทรัพย์สินของโจทก์ จนเป็นเหตุให้มีผู้ลักลอบถอดอุปกรณ์เพลาล้อหลังด้านขวาของรถบรรทุกสิ่งปฏิกูลหมายเลขทะเบียน ๙๓-๙๗๖๖ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๒ อัน ซึ่งจอดไว้บริเวณรอบสำนักงานเขตสายไหม ต่อมาโจทก์ซ่อมแซมเพลาล้อหลังดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๕๗,๙๔๐.๕๐ บาท จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับจ้างต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัย ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๗๔,๙๖๐.๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๗,๙๔๐.๕๐ บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญา พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของโจทก์อย่างเช่นวิญญูชนในฐานะผู้รับจ้างทั่วไป และเสมือนเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เอง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้งดเว้นกระทำการหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่พนักงานขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง โดยนำรถบรรทุกสิ่งปฏิกูลคันพิพาทไปจอดห่างจากสำนักงานเขตสายไหมประมาณ ๘๐ เมตร ซึ่งอยู่นอกบริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น คดีโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายที่แท้จริง ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และเป็นเรื่องฟ้องตามสัญญาทางปกครองไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องต่าง ๆ อาทิเช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทะเบียน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การดูแลรักษาที่สาธารณะ และการสาธารณูปโภค เป็นต้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘๙ และข้อบังคับกรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักงานเขตสายไหมเป็นส่วนราชการแห่งหนึ่งในหน่วยงานของโจทก์ที่ประชาชนทั่วไปต้องเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อติดต่อราชการของโจทก์โดยตรง นอกจากสัญญาจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารสำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับจ้างดูแลทรัพย์สินของโจทก์ภายในอาคารสำนักงานแล้ว ยังกำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ชีวิต ทรัพย์สินของผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการในสำนักงานเขต ตรวจห้าม ว่ากล่าว ตักเตือน และจับกุมผู้ฝ่าฝืนเข้าออกในบริเวณสำนักงานเขต ผู้ฝ่าฝืนทำลาย ลักทรัพย์ หรือประกอบคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ตลอดจนกิจการอื่น ๆ ตามที่โจทก์หรือผู้แทนแจ้งให้ทราบ ซึ่งถือเป็นภารกิจ อย่างหนึ่งในการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ให้บรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้มีมูลเหตุอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างเลขที่ ๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นฉบับพิพาทมีวัตถุประสงค์หลักให้จำเลยที่ ๑ ดูแลรักษาความปลอดภัยตัวอาคารสำนักงานเขตสายไหม ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ทั้งที่มีที่ตั้งภายในสำนักงานเขตสายไหมและบริเวณโดยรอบซึ่งรวมถึงบริเวณที่ใช้เป็นที่จอดรถโดยปกติของโจทก์ และรวมถึงการตรวจตราเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เข้ามาในสำนักงานเขตสายไหม และป้องกันเหตุภยันตรายต่าง ๆ ตลอดจนทำหน้าที่ในการตรวจ ห้ามปราม ว่ากล่าวตักเตือน จับกุมผู้ฝ่าฝืนตามความจำเป็นและความเหมาะสมแก่ผู้ที่เข้าออกบริเวณสำนักงานเขตสายไหม โดยโจทก์ให้ผลตอบแทนแก่จำเลยที่ ๑ เป็นค่าจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่งและกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน สัญญาพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเพื่อทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จและโจทก์ตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อันเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หามีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานหรือให้จำเลยที่ ๑ จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุประสงค์หลักแต่อย่างใดไม่ แม้ว่าในข้อ ๔ ของสัญญาจะกำหนดให้จำเลยที่ ๑ จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เข้ามาในสำนักงานเขตสายไหม และป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และในข้อ ๑๕ ของสัญญาให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ ตรวจ ห้ามปราม ว่ากล่าวตักเตือน จับกุมผู้ฝ่าฝืนตามความจำเป็นและความเหมาะสม รวมถึงข้อ ๘ ของรายละเอียดและเงื่อนไขการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานเขตสายไหมแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาเลขที่ ๑/๒๕๔๔ จะกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ตรวจสอบบุคคลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในบริเวณอาคารสำนักงาน โดยสอบถามและอาจปฏิบัติหน้าที่ด้านการตรวจค้นด้วย ในกรณีที่บุคคลนั้นมีพฤติกรรมน่าสงสัย ตลอดจนกีดกันบุคคลไม่พึงประสงค์ไม่ให้เข้ามาในบริเวณสำนักงานของโจทก์ก็ตาม ข้อตกลงในสัญญาและเงื่อนไขดังกล่าวก็เป็นเพียงการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยตัวอาคารสำนักงานเขตสายไหมและดูแลทรัพย์สินของโจทก์ตลอดจนของประชาชนที่มาติดต่องานกับสำนักงานเขตสายไหมเป็นหลักเท่านั้น มิได้ให้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปแต่อย่างใดซึ่งหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว หาใช่การมอบอำนาจทางปกครองของโจทก์ที่มีตามกฎหมายให้จำเลยที่ ๑ ทำแทนไม่ และหาใช่เป็นการให้จำเลยที่ ๑ มีส่วนร่วมจัดทำบริการสาธารณะซึ่งอยู่ในหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายด้วยไม่ ดังนั้น สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด คดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๔ ให้ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ในสำนักงานเขตสายไหม และบริเวณโดยรอบ และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ ๑ งดเว้นหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้อุปกรณ์เพลาล้อหลังด้านขวาของรถบรรทุกสิ่งปฏิกูลคันหมายเลขทะเบียน ๙๓-๙๗๖๖ กรุงเทพมหานคร ที่จอดไว้บริเวณรอบสำนักงานเขตสายไหมถูกถอดออกไป โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ๕๗,๙๔๐.๕๐ บาท จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าซ่อมแซมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญา พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของโจทก์อย่างเช่นวิญญูชนในฐานะ ผู้รับจ้างทั่วไป และเสมือนเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เอง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้งดเว้นกระทำการหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเองเพราะนำรถคันพิพาทไปจอดห่างจากสำนักงานเขตสายไหมประมาณ ๘๐ เมตร ซึ่งอยู่นอกบริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ในสำนักงานเขตสายไหม และบริเวณโดยรอบ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑/๒๕๔๔ เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า กรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทะเบียน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การผังเมือง การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การวิศวกรรมจราจร การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การดูแลรักษาที่สาธารณะ การควบคุมอาคาร การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธารณูปโภค ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘๙ และโดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิพากษาคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” สัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารสำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เลขที่ ๑/๒๕๔๔ จึงเป็นสัญญาที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง แต่สัญญาทางปกครองนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้จำเลยที่ ๑ เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล สำหรับสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยฯ ฉบับพิพาทมีวัตถุประสงค์หลักให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตัวอาคารสำนักงานเขตสายไหม และดูแลทรัพย์สินของโจทก์ทั้งที่มีที่ตั้งภายในสำนักงานเขตสายไหมและบริเวณโดยรอบซึ่งรวมถึงบริเวณที่ใช้เป็นที่จอดรถโดยปกติของโจทก์ โดยกำหนดไว้เฉพาะความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับความเสียหายในทรัพย์สินของโจทก์ แต่มิได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เข้าไปในสำนักงานเขตสายไหม จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นเพื่อมุ่งประโยชน์ในการดูแลทรัพย์สินของโจทก์เป็นหลัก มิใช่เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘๙ อันเป็นบริการสาธารณะของโจทก์ ดังนั้น สัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยฯ ฉบับพิพาทนี้ จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรุงเทพมหานคร โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล การ์ด ที่ ๑ นางสาวกนกวรรณ ประจวบสุข ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share