คำวินิจฉัยที่ 8/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๐

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ นาวาตรีปรารมภ์ โมกขะเวส โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ที่ ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๒ นายสมภพ บัณฑรวิพากษ์ ที่ ๓ นายสุพจน์ คำภีระ ที่ ๔ นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ ที่ ๕ พลตำรวจเอก ชาญชิต เพียรเลิศ ที่ ๖ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่ ๗ นายเตชะ บุณยะชัย ที่ ๘ นายพิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์ ที่ ๙ นายสมพร แก้วงาม ที่ ๑๐ นายจิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร ที่ ๑๑ นายนพพร เทพสิทธา ที่ ๑๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๑๖๔/๒๕๔๘ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีวัตถุประสงค์ในการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ และในต่างประเทศ ฯลฯ เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มีการสรรหาผู้บริหารของจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งผู้อำนวยการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจการเดินเรือได้รับเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา ๔ ปี นับแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นอกจากโจทก์จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ยังมีฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ โดยตำแหน่งด้วย โจทก์มีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ และมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของจำเลยที่ ๑ ทุกตำแหน่ง ภายใต้นโยบายและการควบคุมดูแลของคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ มีหนังสือความเห็นและคำถามตรวจสอบงบการเงินของจำเลยที่ ๑ งวดปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ เกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการประกอบธุรกิจเดินเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งโรลล์ออนโรลล์ออฟ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ริเริ่มโครงการเพื่อให้บริการขนส่งรถบรรทุกรถยนต์ทั่วไปจากท่าเรือแหลมฉบังข้ามอ่าวไทยไปยังท่าเรือสงขลา ต่อมาคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้พักงานโจทก์ โดยอ้างว่าเนื่องจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวและโครงการขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้สินค้าไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ ได้ โดยโจทก์ยังไม่ได้ตอบคำถามของจำเลยที่ ๒ รวมถึงยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวต่อคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว เพราะเห็นว่าคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างดี และเห็นว่าหนังสือความเห็นและคำถามของจำเลยที่ ๒ เป็นเรื่องการตรวจสอบทั่วๆ ไป มิใช่การกล่าวหาหรือการสรุปว่ามีความไม่โปร่งใส ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒ มีหนังสือตรวจสอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ และ ๒๕๔๖ ของจำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๑ อีกครั้ง ซึ่งหลังจากจำเลยที่ ๑ ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วก็ไม่ได้เรียกให้โจทก์ไปชี้แจงหรือมีการสอบสวนใดๆ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ ซึ่งเป็นคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ ในขณะนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้าง โดยให้ย้อนไปมีผลตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นต้นมา โดยการเลิกจ้างเป็นไปโดยไม่โปร่งใสและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ ให้ข่าวทางหนังสือพิมพ์ในทำนองว่า คณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิดระเบียบวินัยของจำเลยที่ ๑ รวมทั้งกระทำผิดตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๘ โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการเลิกสัญญาจ้างจากจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๘ ระบุว่า เนื่องจากในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ อยู่นั้น จำเลยที่ ๒ ทำการตรวจสอบพบว่า โจทก์มิได้ดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ที่พึงกระทำ ไม่โปร่งใส และทำให้จำเลยที่ ๑ เสียหายอันถือได้ว่าเป็นการผิดวินัยของจำเลยที่ ๑ อย่างร้ายแรง ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาจ้างข้อ ๑๐.๒ และ ๑๐.๓ โจทก์ไม่ได้กระทำการอันถือได้ว่าเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสิบสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ ๑ และให้โจทก์กลับไปทำงานได้ตามเดิม ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินรายได้ที่โจทก์พึงได้รับตามสัญญา ตลอดจนชดใช้ค่าเสียหาย และให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันโฆษณาทางหนังสือพิมพ์และแจ้งข่าวแก่บุคคลที่เป็นคู่ค้าของจำเลยที่ ๑ รวมถึงบุคคลเกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจเดินเรือให้ชื่อเสียงของโจทก์และวงศ์ตระกูลกลับมาดีดังเดิม
จำเลยทั้งสิบสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้ เป็นไปตามสัญญาจ้างข้อ ๕ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๒ เนื่องจากในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ และสัญญาจ้างหลายประการ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือถึงโจทก์และรองประธานสภากรรมการจำเลยที่ ๑ เพื่อพิจารณาหยุดยั้งการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์มีหนังสือถึงสภากรรมการฯ ชี้แจงข้อร้องเรียนและเข้าชี้แจงต่อสภากรรมการฯ ในการประชุมสามัญ ครั้งที่ ๘/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ต่อมาในการประชุมวิสามัญครั้งที่ ๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ สภากรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้พักงานโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ตรวจสอบงบการเงินของจำเลยที่ ๑ งวดปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ จึงมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อให้ชี้แจงรวม ๒ ฉบับ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวและมีหนังสือชี้แจงไปยังจำเลยที่ ๒ แล้ว แต่คำชี้แจงของโจทก์ไม่ชัดเจน จำเลยที่ ๒ จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ แจ้งการตรวจสอบงบการเงินและข้อสังเกต ทั้งนี้ ก่อนมีคำสั่งพักงานและเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงปัญหาต่างๆ และตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ และได้มีการประชุมสภากรรมการ ฯ หลายครั้งและครั้งสุดท้ายในการประชุมวิสามัญครั้งที่ ๒/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ได้พิจารณาข้อร้องเรียน ข้อสังเกตของจำเลยที่ ๒ และให้โอกาสโจทก์ชี้แจงแล้ว การพิจารณาเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบตามอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการแล้วเห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ กระทำการอันถือได้ว่าเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการของสภากรรมการจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากพิจารณาตามเอกสารหลักฐานที่มีอยู่อย่างชัดเจน และโจทก์ไม่สามารถชี้แจงหักล้างได้ การตรวจสอบงบการเงินของจำเลยที่ ๑ เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ หนังสือที่จำเลยที่ ๒ แจ้งไปยังกรรมการจำเลยที่ ๑ มิใช่เป็นการกล่าวโทษโจทก์หรือเป็นการโต้แย้งสิทธิใดๆ ของโจทก์ เป็นเพียงการแจ้งผลการตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ ไม่เคยให้ข่าวที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด และหนังสือแจ้งเลิกการจ้างโจทก์ได้ระบุสาเหตุที่เลิกจ้างไว้ชัดเจนแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นความเสียหายที่เลื่อนลอยปราศจากเหตุผล ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ จำเลยทั้งสิบสองมิได้กระทำละเมิดโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ในคดีนี้ยื่นฟ้องบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ที่ ๑ (จำเลยที่ ๑) คณะสภากรรมการบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ที่ ๒ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๑/๒๕๔๘ แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ ก็มีวัตถุประสงค์ในการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการต่างๆ ในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นผู้แสดงเจตนาใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองแทนจำเลยที่ ๑ ด้วย สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าจ้างให้โจทก์เข้าเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ เพื่อดำเนินกิจการในการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอันเป็นบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาที่พิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (จำเลยที่ ๑) เป็นรัฐวิสาหกิจตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มิใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (จำเลยที่ ๑) จึงมิได้เป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (จำเลยที่ ๑) กับผู้ฟ้องคดี (โจทก์) จึงมิได้เป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ (คดีของศาลปกครองกลาง หมายเลขแดงที่ ๘๓๗/๒๕๔๘)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีวัตถุประสงค์ในการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ และในต่างประเทศ ฯลฯ ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ มีกำหนดเวลา ๔ ปี นับแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ แต่ก่อนครบกำหนดสัญญา โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการเลิกสัญญาจ้างจากจำเลยที่ ๑ ระบุว่า เนื่องจากในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ อยู่นั้น จำเลยที่ ๒ ตรวจสอบพบว่า โจทก์มิได้ดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ที่พึงกระทำ ไม่โปร่งใส และทำให้จำเลยที่ ๑ เสียหายอันถือได้ว่าเป็นการผิดวินัยของจำเลยที่ ๑ อย่างร้ายแรง ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาจ้างข้อ ๑๐.๒ และ ๑๐.๓ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ ซึ่งเป็นคณะสภากรรมการของจำเลยที่ ๑ ในขณะนั้น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้าง โดยให้ย้อนไปมีผลตั้งแต่วันที่๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป โจทก์เห็นว่า การเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ ๑ และให้โจทก์กลับไปทำงานได้ตามเดิมให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินรายได้ที่โจทก์พึงได้รับตามสัญญา ตลอดจนชดใช้ค่าเสียหาย และให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันโฆษณาทางหนังสือพิมพ์และแจ้งข่าวแก่บุคคลที่เป็นคู่ค้าของจำเลยที่ ๑ รวมถึงบุคคลเกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจเดินเรือให้ชื่อเสียงของโจทก์และวงศ์ตระกูลกลับมาดีดังเดิม ส่วนจำเลยทั้งสิบสองให้การว่า การเลิกจ้างชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือไม่ และสัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง” และ “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ บริการขนส่งทางทะเล และให้บริการด้านคลังสินค้าและท่าเรือ ให้เช่าเรือ เพื่อประกอบกิจการขนส่งทางทะเล ฯลฯ วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการมุ่งแสวงหากำไรอันเป็นไปในเชิงธุรกิจ ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ก็มิได้มีการใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง จำเลยที่ ๑ จึงมิใช่หน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ มิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ สัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้บริหารที่พิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นาวาตรีปรารมภ์ โมกขะเวส โจทก์ บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ที่ ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๒ นายสมภพ บัณฑรวิพากษ์ ที่ ๓ นายสุพจน์ คำภีระ ที่ ๔ นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ ที่ ๕ พลตำรวจเอก ชาญชิต เพียรเลิศ ที่ ๖ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่ ๗ นายเตชะ บุณยะชัย ที่ ๘ นายพิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์ ที่ ๙ นายสมพร แก้วงาม ที่ ๑๐ นายจิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร ที่ ๑๑ นายนพพร เทพสิทธา ที่ ๑๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share