คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องยื่นรายการซึ่งจำต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ตามแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ถ้าแบบที่ยื่นไว้แสดงรายการไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ทำให้จำนวนภาษีเงินได้ขาดไปก็ต้องถือว่าหนี้ค่าภาษีจำนวนที่ขาดไปนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ผู้เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มิใช่ถึงกำหนดชำระเมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ผู้เสียภาษีเงินได้ชำระค่าภาษี
อายุความเรียกร้องให้ชำระภาษีเงินได้ดังกล่าวเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้เสียภาษียื่นรายการและชำระค่าภาษี ถ้ามิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระภายใน 10 ปีขาดอายุความ(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 31/2514)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนศาลรวมการพิจารณาพิพากษา

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 หัวหน้าสารวัตร สรรพากรได้หมายเรียกเจ้าหน้าที่บริษัทโจทก์ไปทำการสอบสวนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทโจทก์จำนวน พ.ศ. 2492, 2493, 2494, 2495 เมื่อสอบสวนแล้วเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในเขตสรรพากรเขต 9 มีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2497 แจ้งว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2494 โจทก์ต้องชำระหนี้และเงินเพิ่มภาษีอีกเป็นเงิน 5,410,581.70 บาท ในระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2495 โจทก์ต้องชำระภาษีเงินเพิ่มอีก รวมเป็นเงิน 3,155,016.14 บาท

โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ลดเงินภาษีและเงินเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2494 ลงคงให้เก็บเฉพาะเงินค่าภาษีเป็นเงิน 70,200 บาท 28 สตางค์ แต่ให้เสียภาษีเพิ่มอีก 2,527,953 บาท 52 สตางค์ สำหรับปี พ.ศ. 2495 ให้ปลดเงินภาษีและเงินเพิ่มที่พนักงานประเมินเรียกเก็บทั้งสิ้น แต่ให้เสียภาษีเพิ่มเติมอีก 1,013,554.69 บาท

โจทก์เห็นว่าโจทก์ควรเสียภาษีเพิ่มในระยะเวลาปีบัญชี 2494 เพียง 70,200.28 บาท และในระยะปีบัญชี 2495 ไม่ควรต้องเสียภาษีเพิ่มเลย จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาฎีกาที่ 973/2506, 974/2506

หลังจากศาลฎีกาพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 แจ้งไปยังโจทก์โดยหนังสือที่ 913/2506 และ 916/2506 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2506 ให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2494 จำนวนเงิน 2,527,953.52 บาทและสำหรับปี พ.ศ. 2495 จำนวนเงิน 1,013,554.69 บาท ซึ่งศาลพิพากษาไปแล้วว่าไม่ต้องเสีย ไปชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ส่งเรื่องไปให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1สั่งให้จำเลยที่ 3 ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษากลับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสิทธิเรียกร้องของจำเลยขาดอายุความด้วย

จำเลยทั้งสามให้การทั้งสองสำนวนมีใจความว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลรัษฎากรให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ต่อศาลเท่านั้น คำสั่งของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2506 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2497 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีเงินได้ เนื่องจากโจทก์มียอดราคาขายเพิ่มขึ้น คำพิพากษาฎีกาที่ 973-974/2506 มิได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระภาษี หาใช่เป็นการฝ่าฝืนคำพิพากษาไม่

หัวหน้าสารวัตรสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีมีหมายเรียกเจ้าหน้าที่โจทก์มาทำการสอบสวนแล้วแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังโจทก์ตามมาตรา 20 ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียก

การปฏิบัติการของเจ้าพนักงานตั้งแต่เรียกผู้แทนบริษัทโจทก์มาไต่สวนตามมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม จนถึงเวลาที่มีการฟ้องร้องคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ย่อมถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง หรือเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องนั้น มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมจึงไม่ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2494 ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2495และในปี พ.ศ. 2495 ภายในวันที่ 30 พฤษภษคม 2496 คดีทั้งสองสำนวนนี้เจ้าพนักงานประเมินภาษีได้ประเมินสั่งให้โจทก์เสียภาษีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2506 ซึ่งนับจากวันที่โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีพ้นกำหนด 10 ปีแล้วจำเลยหมดสิทธิเรียกร้องเพื่อเอาค่าภาษีรายนี้ การปฏิบัติการของเจ้าพนักงานที่หมายเรียกผู้แทนบริษัทโจทก์ให้นำบัญชีเอกสารมาตรวจสอบไต่สวนเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์ชำระภาษี ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจนถึงระยะเวลาที่ได้มีการฟ้องคดีนี้ต่อศาล ไม่ใช่การกระทำอื่นใด อันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง หรือเพื่อใช้หนี้ตามที่เรียกร้องอันจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ประเด็นอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย จึงพิพากษากลับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ความเห็นแย้งว่าควรให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทโจทก์ คือ วันที่ 31 ธันวาคม โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2494 และปี พ.ศ. 2495 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี พร้อมกับชำระภาษีเงินได้ต่ออำเภอตามประมวลรัษฎากร มาตรา 68, 69 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า อายุความสิทธิเรียกร้องเพื่อเอาค่าภาษีรายพิพาทนี้ขาดอายุความหรือไม่

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกรายมีหน้าที่ต้องยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี พร้อมด้วยบัญชีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายระบุไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีและถ้ามีกำไรสุทธิ ก็ต้องชำระเงินภาษีที่ต้องเสียต่ออำเภอพร้อมกับรายการที่ยื่นนั้นด้วย ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 65, 68, 69 ดังนี้ จะเห็นว่าหนี้ค่าภาษีเงินได้ถึงกำหนดชำระแล้วตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร การที่ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ ทำให้จำนวนเงินค่าภาษีขาดไป จะถือว่าหนี้ค่าภาษีเงินได้จำนวนที่ขาดไปเพิ่งจะถึงกำหนด เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินไปให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระเงินค่าภาษีเงินได้นั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องอำนาจและวิธีการของเจ้าพนักงานประเมินจะดำเนินการตรวจตราเรียกเก็บภาษีเงินได้และเงินเพิ่มจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งหนี้นั้นถึงกำหนดชำระอยู่ก่อนแล้วตามรอบระยะเวลาบัญชี อายุความเรียกร้องให้ชำระหนี้จึงเริ่มนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป

ภาษีเงินได้ตามที่จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์นำไปชำระตามหนังสือลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2506 นั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 29 พฤษภาคม 2495 และวันที่ 30 พฤษภาคม 2496 อายุความเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 เรียกร้องให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้มาชำระเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2506 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ สิทธิเรียกร้องของจำเลยขาดอายุความแล้ว

ที่จำเลยฎีกาการปฏิบัติการของเจ้าพนักงานตั้งแต่เรียกผู้แทนโจทก์มาไต่สวนตามมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษี ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม จนถึงเวลาที่มีการฟ้องร้องกันในศาล (ในคดีก่อน) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่พิพาทกันในคดีนี้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share