คำวินิจฉัยที่ 11/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๐

วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดบึงกาฬ
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบึงกาฬโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ นางวิภาพรรณ์ หรือปาริยา มิ่งสอน หรือ ลิ้มศรีมณีรัตน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมบังคับคดี ที่ ๑ นางสาวทรงพร วิไลลักษณ์ ที่ ๒ นายเกียรติศักดิ์ สิงห์สาย ที่ ๓ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ นายสุกรรณ์ วงศ์จันทร์ชมภู ที่ ๕ นายพระเนตร โพธิ์ศรีน้อย ที่ ๖ นายอานนท์ วงษ์สุทโธ ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบึงกาฬ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๖/๒๕๔๘ ความว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๑ ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. ๓ ก เลขที่ ๒๕๑๙ ตำบลศรีวิไล (ชุมภูพร) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย พร้อมบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มรายงานเจ้าหน้าที่ซึ่งยังมิได้มีการกรอกข้อความ แล้วนำรายงานดังกล่าวไปเติมข้อความว่าโจทก์คัดค้านราคาขั้นต่ำไว้ที่ ๙๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง และเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวให้กับจำเลยที่ ๗ ไปในราคา ๙๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินสมควร โดยไม่ได้สอบถามโจทก์ว่าจะคัดค้านหรือไม่ และไม่ได้สอบถามผู้เข้าสู้ราคารายอื่นว่าจะเสนอราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งๆ ที่นางวิยะดา จารุวงศ์กุล ผู้เข้าสู้ราคายังยกป้ายสู้ราคาอยู่และสามารถ สู้ราคาได้ถึง ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ ทราบ อยู่แล้วว่าราคาที่จำเลยที่ ๗ เสนอดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๔ ได้ แต่จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เพิกเฉยไม่ยอมคัดค้านราคา ต่อมาโจทก์ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว แต่ระหว่างไต่สวนคำร้อง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ให้จำเลยที่ ๗ และจำเลยที่ ๗ ได้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ถึงที่ ๗ เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะตัวการหรือนายจ้างของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ จึงต้องร่วมรับผิดกับบุคคลดังกล่าว ในการปลูกสร้างบ้านโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายอันเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงรวมกันเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๗ เป็นผู้รื้อถอนบ้านพิพาท จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่มีส่วนรู้เห็น ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การว่า คำสั่งศาลให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ จำเลยที่ ๗ เป็นผู้รื้อถอนบ้านโดยตรง จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เนื่องจากซื้อและรับโอนทรัพย์มาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดบึงกาฬพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมบังคับคดี จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนกลาง จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในทางละเมิดจากการที่สิ่งปลูกสร้างของโจทก์ถูกรื้อถอนสืบเนื่องจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยไม่ได้สอบถามโจทก์ว่าจะคัดค้านราคาหรือไม่ และไม่ได้สอบถามผู้เข้าสู้ราคารายอื่นว่าจะเสนอราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ยังมีผู้เข้าสู้ราคารายอื่นยกป้ายสู้ราคาอยู่และสามารถสู้ราคาได้ถึง ๑๔๐,๐๐๐ บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท) และรีบดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ ๗ ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งที่ทราบว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์โดยละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้ความว่ากรณีการขายทอดตลาด รายนี้ ศาลจังหวัดบึงกาฬได้มีคำสั่งให้เพิกถอนแล้วเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องขั้นตอนการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอีก อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ต้องดำเนินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในมูลละเมิดอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีลักษณะการใช้อำนาจทางปกครองที่มีกฎหมายปกครองบัญญัติให้อำนาจกระทำการไว้ แต่กรณีข้อเท็จจริงในคดีนี้มูลละเมิดดังกล่าวเกิดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลในคดีแพ่งโดยการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลจังหวัดบึงกาฬ ได้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนั้นแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามูลละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานบังคับคดีในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของโจทก์จึงเป็นการเรียกค่าเสียหาย อันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว สำหรับคดีนี้ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชน เป็นจำเลยว่า ทำละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยข้อที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเอกชนทำละเมิด เรียกค่าเสียหายนั้น ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเขตอำนาจศาล จึงเป็นอันยุติว่าข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงเหลือข้อที่โจทก์ฟ้องว่า กรมบังคับคดี จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใน คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น เมื่อคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ ๑ ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. ๓ ก เลขที่ ๒๕๑๙ ตำบลศรีวิไล (ชุมภูพร) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย พร้อมบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ของโจทก์ให้จำเลยที่ ๗ ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคาที่ต่ำเกินสมควร และจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ยอมคัดค้านราคา ทั้งที่ทราบว่าราคาที่ขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๔ ได้ จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามที่โจทก์ร้องขอ แต่ระหว่างนั้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ยังจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้จำเลยที่ ๗ และจำเลยที่ ๗ ได้รื้อถอนบ้านออกไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นขั้นตอนของการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคู่ความในทางแพ่งแล้ว อันเป็นขั้นตอนและกระบวนการในทางแพ่ง ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ออกหนังสือโอนทรัพย์ที่ขายให้แก่จำเลยที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ แม้จะเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่มีการฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ยังเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องจากการบังคับคดีทางแพ่งที่ดำเนินการก่อนศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทอันสืบเนื่องมาจากกระบวนวิธีบังคับคดีในทางแพ่งดังกล่าวขึ้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางวิภาพรรณ์ หรือปาริยา มิ่งสอน หรือลิ้มศรีมณีรัตน์ โจทก์ กรมบังคับคดี ที่ ๑ นางสาวทรงพร วิไลลักษณ์ ที่ ๒ นายเกียรติศักดิ์ สิงห์สาย ที่ ๓ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ นายสุกรรณ์ วงศ์จันทร์ชมภู ที่ ๕ นายพระเนตร โพธิ์ศรีน้อย ที่ ๖ นายอานนท์ วงษ์สุทโธ ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share