คำวินิจฉัยที่ 97/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๑ และเอกชนเป็นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อ้างว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ย้ายรูปแปลงที่ดินของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ ของจำเลยที่ ๒ เข้ามาอยู่ในรูปแผนที่โฉนดที่ดินของโจทก์และออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ให้จำเลยที่ ๒ ทับที่ดินของโจทก์ ทำให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินและรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินมีขนาดเล็กลงรวมทั้งยังรุกล้ำเข้าไปในโฉนดที่ดินของโจทก์จำนวน ๓๗ ตารางวา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หรือบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ครอบครองที่ดินตามเนื้อที่ตามที่ระบุในโฉนด ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทและที่ดินข้างเคียง อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่โจทก์มีคำขอห้ามจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หรือบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

.
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๗/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดบึงกาฬ
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบึงกาฬโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย
ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาด
อำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายไสว ติดมา โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ นางธัญรักษ์ พัฒนกิจจำรูญ ที่ ๒ นางสาวเยาวรัตน์ จิรพร ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบึงกาฬ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.๓๒๕/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ตำบลพรเจริญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ เนื้อที่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ส่วนจำเลยที่ ๒ เดิมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ตำบลพรเจริญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ เนื้อที่ ๖๙ ตารางวา ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เดิมที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ และเลขที่ ๓๕๘๔ เป็นที่ดินแปลงเดียวกันโดยเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๗๔๙ เนื้อที่ ๒ งาน ๖ ตารางวา ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของ ต่อมา จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวในนามเดิมเป็นที่ดินแปลงคงเหลือตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๔๙ เนื้อที่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา และที่ดินแปลงแบ่งแยกตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ เนื้อที่ ๖๙ ตารางวา และได้ขายที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๔๙ ให้แก่โจทก์ และในปี ๒๕๔๑ โจทก์และจำเลยที่ ๒ ขอเปลี่ยน น.ส. ๓ ก.เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ และเลขที่ ๓๕๘๔ ตามลำดับ แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อย้ายรูปแปลง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ (ปัจจุบัน คือโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ) เข้ามาอยู่ในรูปแผนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์ ทำให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดและทำให้รูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของโจทก์มีขนาดเล็กลงทั้งที่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเต็มเนื้อที่ และนำที่ดินทั้งแปลงออกให้จำเลยที่ ๓ เช่าเพื่อปลูกสร้างโรงเรือนทำการค้า ต่อมา จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่มีการนำชี้แนวเขต เมื่อสอบเขตที่ดินจึงทราบว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ของจำเลยที่ ๓ รุกล้ำเข้าไปในโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์ รวมเนื้อที่ ๓๗ ตารางวา การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ และการสมคบกันระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์เพราะทำให้ที่ดินมีเนื้อที่ลดลง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หรือบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ เฉพาะในส่วนที่รุกล้ำไปในโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์ เนื้อที่ ๓๗ ตารางวา ตามแผนที่ต้นร่างจากการสอบเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมิได้ย้ายรูปแปลงที่ดินรุกล้ำที่ดินอีกแปลง แม้จะมีการตรวจสอบพบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๗๕๗ ที่จำเลยที่ ๓ ซื้อต่อจากจำเลยที่ ๒ มีระยะเหลือเนื้อที่ ๓๑ ตารางวา น้อยกว่าหลักฐานเดิม ๓๘ ตารางวา ซึ่งเนื้อที่หายไปอาจจะเกิดจากการคลาดเคลื่อนในการเขียนระยะที่เกิดจากการนำชี้แนวเขตผิดพลาด เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมมีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อที่ที่หายไปของหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๗๕๗ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๗๔๙ ซึ่งโจทก์ซื้อต่อจากจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด เนื้อที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองอยู่ก็มีเนื้อที่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ถูกต้องตามหน้าโฉนดและขณะแบ่งแยกที่ดินพิพาทจำเลยที่ ๒ ไม่ได้คัดค้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินแปลงพิพาทจากจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จำเลยที่ ๒ มีอยู่ก่อนหรือขณะขาย ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวเต็มเนื้อที่และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรังวัดแบ่งแยกที่พิพาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองศาลจังหวัดบึงกาฬพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยทำการย้ายรูปแผนที่ของที่ดิน ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ (ปัจจุบันเป็นโฉนดเลขที่ ๓๕๘๔) ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๒ และปัจจุบันมีชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เข้ามาอยู่ในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ลดลงไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้หน้าโฉนดที่ดิน เห็นว่าแม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการออกกฎ คำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประกอบกับจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ไว้ประเด็นหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ มิได้ย้ายรูปแปลงแผนที่จากโฉนดที่ดินแปลงอื่นเข้าไปในรูปแผนที่โฉนดที่ดินของโจทก์ คดีจึงมีประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทกันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นของจำเลยที่ ๓ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการรังวัดทำแผนที่ การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินการให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ดินเพื่อให้บุคคลมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินและได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพตลอดจนการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทโฉนดที่ดินเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล โดยเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งออกโฉนดที่ดินจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๒ โดยประมาทเลินเล่อ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรคำนวณผิดพลาดไป โดยเขียนรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ของจำเลยที่ ๒ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์โดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ลดลง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำแผนที่ซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองเพื่อออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและแม้ว่าคดีนี้จะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วยก็ตามแต่ก็เป็นเพียงการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ประเภทหนึ่งของบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกับการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องอื่นๆ และโดยที่สิทธิในที่ดินเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของบุคคลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด เห็นได้ว่า สิทธิในที่ดินของบุคคลมิได้เกิดขึ้นเองแต่เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สิทธิแห่งทรัพย์สินอยู่ในขอบเขตเนื้อหาของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองได้ อันเป็นการยืนยันว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อหาหลักแห่งคดีประกอบคำขอของโจทก์แล้ว เห็นว่า เป็นการฟ้องเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและเป็นคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเห็นได้ว่าประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณา และศาลปกครองจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีประการใดสำหรับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชน เป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ในเรื่องการออกโฉนดที่ดินพิพาท จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในทางเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ส่วนจำเลยที่ ๒ เดิมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ซึ่งปัจจุบันมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินทั้งสองแปลงเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๗๔๙ ต่อมา จำเลยที่ ๒ แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามเดิมเป็นที่ดินแปลงคงเหลือตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๔๙ และเลขที่๑๗๕๗ และขายที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๔๙ ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๒ ขอเปลี่ยน น.ส. ๓ ก. เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ และเลขที่ ๓๕๘๔ ตามลำดับ แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อย้ายรูปแผนที่แปลง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ (ปัจจุบันคือโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ) เข้ามาอยู่ในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์ทำให้ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินและรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินมีขนาดเล็กลง โดยเมื่อรังวัดสอบเขตปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ของจำเลยที่ ๓ รุกล้ำเข้าไปในโฉนดที่ดินของโจทก์จำนวน ๓๗ ตารางวา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หรือบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มิได้ย้ายรูปแปลงที่ดินรุกล้ำที่ดินอีกแปลง โจทก์ครอบครองที่ดินจำนวน ๐-๑-๓๗ ไร่ ถูกต้องตามหน้าโฉนด ขณะแบ่งแยกที่ดินพิพาทจำเลยที่ ๒ ไม่ได้คัดค้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงพิพาทจากจำเลยที่ ๒ จึงต้องรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จำเลยที่ ๒ มีอยู่ก่อนหรือขณะขาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรังวัดแบ่งแยกที่พิพาท เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ย้ายรูปแผนที่ของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๗๕๗ เข้ามาอยู่ในรูปแผนที่โฉนดที่ดินของโจทก์และออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์ครอบครองที่ดินตามเนื้อที่ที่ระบุในโฉนด กรณีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและที่ดินข้างเคียง อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอห้ามจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หรือบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๘๔ ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๓ ของโจทก์นั้นก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายไสว ติดมา โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นางธัญรักษ์พัฒนกิจจำรูญ ที่ ๒ นางสาวเยาวรัตน์ จิรพร ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share