คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12798/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันเพื่อสวัสดิการข้าราชการศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 เมื่อการปฏิบัติงานสวัสดิการภายในดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2530 ข้อ 13 ให้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้จะไม่ได้มีค่าตอบแทนพิเศษและไม่มีคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการไว้แต่หน้าที่ผู้จัดการโดยทั่วไปย่อมจะต้องดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสถานีบริการน้ำมันนั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการตามสมควรแก่กรณี แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เสนอรายงานที่ตนเองพบข้อสงสัยไปตามลำดับชั้นเพื่อให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของพนักงานขาย ทั้งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานขายหรือเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 378,888.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 302,361.75 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 355,420.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 282,373.87 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ชำระเงินจำนวน 307,580.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 246,243.02 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 378,888.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 302,361.75 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 355,420.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 282,373.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ชำระเงินจำนวน 246,243.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ชำระเงินจำนวน 307,580.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 246,243.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มิได้มีวัตถุประสงค์ในการค้าขายน้ำมัน แต่สถานีบริการน้ำมันเพื่อสวัสดิการข้าราชการศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้จัดตั้งขึ้นจากรายได้ของโจทก์ตามมติสภาโจทก์เพื่อดำเนินการจัดจำหน่ายน้ำมันเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการในหน่วยงานในสังกัดโจทก์และอยู่ในความดูแลของกองสวัสดิการซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์ นอกจากนั้น นางสาววัจนา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า ทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมัน โจทก์เป็นฝ่ายซื้อน้ำมันมาจำหน่ายโดยใช้เงินจากรายได้ของโจทก์ไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน นายอานันท์ นิติกร 7 และเป็นกรรมการสอบความรับผิดในทางแพ่งของโจทก์ เบิกความว่า เงินหมุนเวียนที่ใช้ในการซื้อสินค้านำมาจำหน่ายได้รับจากการบริจาคจากบุคคลภายนอกกับเงินที่โจทก์จัดสรรให้บางส่วนเป็นทุนประเดิมไม่เกี่ยวกับเงินงบประมาณตามระเบียบสถาบันเทคโนโลยีว่าด้วยการรับ จ่ายเก็บรักษา เงินรายรับ พ.ศ.2520 ดังนี้ เมื่อน้ำมันที่ขาดหายไปตามฟ้องเป็นสินค้าที่โจทก์ลงทุนซื้อมาจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาจัดเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของโจทก์ ส่วนสถานีบริการน้ำมันจะเป็นทรัพย์สินของโจทก์หรือไม่ จึงไม่ใช่เป็นสาระสำคัญที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิด ทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า สถานีบริการน้ำมันของโจทก์จัดตั้งขึ้นในหน่วยงานกองสวัสดิการโจทก์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2530 การดำเนินการสถานบริการน้ำมันของโจทก์ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดของโจทก์ จึงเป็นอำนาจในการบริหารจัดกิจการของโจทก์โดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อมาที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบบัญชีสถานีบริการน้ำมันตามเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว แต่ก็เป็นเพียงการรับทราบผลการตรวจสอบถึงน้ำมันที่ขาดหายไปประจำปี 2538 และประจำปี 2537 ของผู้ตรวจสอบภายในของโจทก์เองว่า รวม 2 ปี มีสินค้าขาดหายไปทั้งสิ้น 282,373.87 บาท โดยเฉพาะความข้อ 2 ของรายงานดังกล่าวระบุเป็นข้อเสนอว่า สถานีบริการน้ำมันมีกำไรสะสมทั้งสิ้น 305,871.80 บาท ซึ่งไม่สมควรถือว่าเป็นกำไรที่แท้จริง เพราะหากไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับสินค้าขาดหายได้ และมีการพิจารณาให้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายแล้วจะต้องปรับปรุงลดยอดกำไรสะสมซึ่งจะทำให้คงเหลือกำไรสะสมเพียง 23,497.93 บาท แสดงว่าขณะโจทก์รับทราบผลการตรวจสอบตามรายงานดังกล่าวโจทก์ยังไม่ทราบว่าผู้ใดจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการที่น้ำมันของโจทก์ดังกล่าวขาดหายไป จนกระทั่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดสรุปรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีน้ำมันขาดหายในปี 2537, 2538 และ 2539 ตามฟ้องตามบันทึกข้อความ และโจทก์รับทราบผลการสอบสวนเดือนเมษายน 2541 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2541 มิใช่วันที่ 25 ธันวาคม 2539 ดังที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 ยังไม่พ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิด โจทก์มีนางสาววัจนา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน และนางสาวสุรีรัตน์ หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน เบิกความว่า พยานทำการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่สั่งมาจำหน่ายแต่ละปีแล้วคิดหักกับที่จำหน่ายไปตามบันทึกการขายของพนักงานขาย เหลือเป็นส่วนต่างของน้ำมันจำนวนเท่าใดแล้วนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันคงเหลือในถังน้ำมันแต่ละชนิดในปีนั้น ปรากฏว่าในปี 2537, 2538 และ 2539 มีปริมาณน้ำมันคงเหลือน้อยกว่าน้ำมันที่เหลืออยู่ แสดงถึงสินค้าน้ำมันที่ขาดหายไปรายละเอียดตาม ในข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ทั้งเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ก็มีข้อสงสัยในการทำงานของพนักงานขายด้วย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า น้ำมันของโจทก์ที่ขาดหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตามฟ้องจริง จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 ตามคำสั่ง เมื่อการปฏิบัติงานสวัสดิการภายในดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2530 ข้อ 13 ให้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้จะไม่ได้มีค่าตอบแทนพิเศษและไม่มีคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการไว้ แต่หน้าที่ผู้จัดการโดยทั่วไปย่อมจะต้องดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสถานีบริการน้ำมันนั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการตามควรแก่กรณี แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เสนอรายงานที่ตนเองพบข้อสงสัยพนักงานขายไปตามลำดับชั้นเพื่อให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของพนักงานขาย ทั้งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานขายหรือเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องตามกันมาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share