คำวินิจฉัยที่ 101/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดทำสัญญาซื้อขายที่ดินบางส่วนกับกรมทางหลวงชนบท จำเลยที่ ๒ เพื่อขยายถนนทางหลวงชนบท เมื่อโจทก์ทำการรังวัด กรมทางหลวงชนบท จำเลยที่ ๒ และกรมชลประทาน จำเลยที่ ๔ คัดค้านการรังวัดว่า โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดิน ล้ำเข้าไปในทางสาธารณะ โจทก์ไม่เคยอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่คืนที่ดินและร่วมกันใช้ค่าที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรร่วมกัน เห็นว่า แม้ข้อพิพาทนี้จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่โจทก์ขอรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งขายให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ แต่การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในฐานะผู้ครอบครองดูแลทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์มาระวังแนวเขตได้คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณะ จึงเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิระหว่างผู้ขอรังวัดและเจ้าของที่ดินข้างเคียง การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองสิทธิในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่แยกออกได้จากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ อันเป็นสัญญาทางปกครองทั้งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสี่ยังไม่ปรากฏว่า มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ เกิดขึ้น จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือที่สาธารณะ จึงยังไม่มีกรณีที่รัฐต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์อันเนื่องมาจากการเวนคืน ประกอบกับโจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ มิได้มีคำขอให้เวนคืนที่ดินพิพาท จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดธัญบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดธัญบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ นางสุวรรณ หิรัญทรัพย์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดก ของนางละม่อม นิติสาร โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวงชนบท ที่ ๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๓ กรมชลประทาน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๑๗/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗ ตำบลคลองซอยที่ ๕ ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบึงยี่โถ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี และตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๕๒ กับจำเลยที่ ๒ ในที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ที่ถูกเวนคืน จำนวน ๑ งาน ๙๔.๘๔ ตารางวา กำหนดค่าทดแทนที่ดินอัตราตารางวาละ ๗,๑๗๕ บาท รวม ๑,๓๙๗,๙๗๗ บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินบางส่วนแล้วจำนวน ๑,๐๕๘,๔๘๒ บาท ต่อมาวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๕ โจทก์ยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ และพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดที่ดินโดยโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไปร่วมระวังแนวเขต จำเลยที่ ๒ นำชี้แนวเขตเฉพาะในส่วนที่จะเวนคืนในที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งติดทางสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยที่ ๒ อ้างสิทธิ เนื้อที่ ๒ งาน ๑๐.๓๐ ตารางวา เพิ่มขึ้นจำนวน ๑๕.๔๖ ตารางวา ส่วนจำเลยที่ ๔ ไม่นำชี้แนวเขตโดยอ้างว่าไม่ทราบแนวเขตที่แน่นอน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๒ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าโจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินของตนล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ ซึ่งทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินของโจทก์และโจทก์ไม่เคยอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการไกล่เกลี่ย โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ ๒ เวนคืนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เป็นถนนลาดยางที่จำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ไหล่ทางไปจนติดคลองซอยที่ ๕ ตามโฉนดที่ดินที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าจะเวนคืนเฉพาะส่วนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเท่านั้น และจำเลยที่ ๔ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้ตามแผนที่พิพาทน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคลองซอยที่ ๕ จึงไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้โจทก์ไปใช้สิทธิต่อศาลยุติธรรมภายในระยะเวลา ๙๐ วัน ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยให้งดการรังวัดไว้ก่อน ซึ่งที่ดินชานคลองที่จำเลยที่ ๔ อ้างสิทธิว่าเป็นส่วนหนึ่งของคลองซอยที่ ๕ และถนนลาดยางที่จำเลยที่ ๒ อ้างสิทธิว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ ๔๐๓.๑๐ ตารางวา โจทก์ถือกรรมสิทธิ์และครอบครองมาโดยตลอดและไม่เคยอุทิศหรือสละการครอบครองให้แก่ผู้ใด จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันคืนที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๔๐๓.๑๐ ตารางวา แก่โจทก์ในสภาพเดิม และห้ามยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป กับให้ชำระค่าใช้ที่ดินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อ้างว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน และโต้แย้งว่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนและชานคลองเป็นของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาไม่น้อยกว่า ๔๗ ปีแล้ว โดยถนนสายดังกล่าวมีมานานก่อนปี ๒๕๐๙ ก่อนที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าทางพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องเนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินที่เวนคืนตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดธัญบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์มีประเด็นข้อโต้แย้งว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเนื้อที่ ๔๐๓.๑๐ ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗ ตำบลคลองซอยที่ ๕ (ฝั่งตะวันออก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มิใช่ถนนสาธารณะและที่ดินชานคลองอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้ที่ดินที่พิพาทบางส่วนจะอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบึงยี่โถ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี และตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๕๒ แต่หากที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาต่อไปได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นคำขอรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งขายให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบึงยี่โถ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี และตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๕๒ แต่จำเลยที่ ๒ คัดค้านการรังวัด ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่จำเลยที่ ๒ คัดค้าน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเข้าลักษณะคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗ ตำบลคลองซอยที่ ๕ ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๕๘ ไร่ ๘๓ ตารางวา โดยทิศตะวันออกของที่ดินจดคลองส่งน้ำสายที่ ๕ และทิศตะวันตกจดคลองซอยที่ ๕ โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ ๑ งาน ๙๔.๘๔ ตารางวา กับจำเลยที่ ๒ เพื่อขยายถนนทางหลวงชนบทตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบึงยี่โถ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี และตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ที่ดินได้ทำการรังวัด ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาระวังแนวเขตที่สาธารณะซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๒ ได้คัดค้านการรังวัดว่าโจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ ทะเบียนหมายเลข ปท ๓๐๑๐ และจำเลยที่ ๔ คัดค้านการรังวัดว่าโจทก์นำชี้ล้ำเข้าไปในคลองซอยที่ ๕ ซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ทั้งที่โจทก์ไม่เคยอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ใด ทั้งในอดีตประมาณปี ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๐ มีหน่วยงานทำถนนลูกรังล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้คัดค้านแล้ว ส่วนที่ดินชานคลองตามที่จำเลยที่ ๔ คัดค้านนั้น โจทก์ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด ขอให้จำเลยทั้งสี่คืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และให้ร่วมกันใช้ค่าที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ข้อพิพาทนี้จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่โจทก์ขอรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งขายให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ แต่การที่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้ครอบครองดูแลทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์มาระวังแนวเขตได้คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณะ จึงกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิระหว่างผู้ขอรังวัดและเจ้าของที่ดินข้างเคียง การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่แยกออกได้จากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ อันเป็นสัญญาทางปกครอง ทั้งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสี่ยังไม่ปรากฏว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ เกิดขึ้น จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่าที่ดินพิพาท เป็นของโจทก์หรือที่สาธารณะ จึงยังไม่มีกรณีที่รัฐต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์อันเนื่องมาจากการเวนคืน ประกอบกับโจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ มิได้มีคำขอให้เวนคืนที่ดินพิพาท จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสุวรรณ หิรัญทรัพย์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางละม่อม นิติสาร โจทก์ กระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวงชนบท ที่ ๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๓ กรมชลประทาน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share