แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ที่แสดงรายการตามแบบที่ยื่นรายการเสียภาษีจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ที่จะออกหมายเรียกให้ผู้ที่ยื่นรายการแสดงการเสียภาษีนำบัญชี หรือเอกสารหลักฐานการลงบัญชีใด ๆ ไปให้เพื่อทำการไต่สวนตรวจสอบ หากผู้นั้นขัดขืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินก็ชอบที่จะทำการประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) และไม่มีบทบัญญัติใด ในกรณีนี้บังคับว่าจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อน
โจทก์อ้างว่าบัญชีและหลักฐานการลงบัญชีที่เก็บไว้สูญหายแต่ได้ความว่า โจทก์เพียงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพว่า บัญชี 5 เล่ม ประจำปี 2515 – 2516 ของโจทก์หายไปเนื่องจากการโยกย้ายสำนักงานเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเอกสารประกอบการลงบัญชีทุกชนิดต้นฉบับ หรือคู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 – 2516 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีหมายเรียกให้โจทก์นำไปส่งมอบได้หายไปด้วย ทั้งโจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหาได้แจ้งเรื่องบัญชี 5 เล่มที่สูญหายต่อสำนักงานบัญชีให้ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 15 ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นตามหมายเรียกมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับตามมาตรา 71 (1) ดังกล่าว
จำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์เป็นสรรพากรเขต 4 สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ตามกฎหมายมีอำนาจทำการประเมินเรียกเก็บภาษีในจังหวัดที่อยู่ภายในเขตอำนาจ จึงรวมถึงประเมินเรียกเก็บภาษีของโจทก์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่นซึ่งอยู่ในเขตอำนาจดัวย ดังนั้น การแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกับพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นร่วมกันเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) (ข) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ที่โจทก์ไม่นำบัญชีไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๓ แห่งประมวลรัษฎากร เพราะสมุดบัญชีและเอกสารต่าง ๆ หาย แต่จำเลยกลับประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามมาตรา ๗๑ (๑) จึงขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมิน
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยาน คู่ความรับข้อเท็จจริงบางประการ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า การประเมินภาษีเงินได้โจทก์ของเจ้าพนักงานประเมิน โดยที่ไม่มีการไต่สวนเสียก่อน จะเป็นการประเมินภาษีที่ชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ที่แสดงรายการตามแบบที่ยื่นรายการเสียภาษี จะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙ ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกให้ผู้ที่ยื่นรายการแสดงการเสียภาษีนำบัญชีหรือเอกสารหลักฐานการลงบัญชีใด ๆ ไปให้เพื่อทำการไต่สวนตรวจสอบ หากผู้นั้นขัดขืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินก็ชอบที่จะทำการประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๑ (๑) และก็ไม่มีบทบัญญัติใดในกรณีนี้บังคับว่า จะต้องทำการไต่สวนเสียก่อน ส่วนข้ออ้างโจทก์ที่ว่า บัญชีและหลักฐานการลงบัญชีที่เก็บไว้สูญหายนั้นได้ความว่า โจทก์เพียงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพว่า บัญชี ๕ เล่ม ประจำปี พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๖ ของโจทก์หายไป เนื่องจากโยกย้ายสำนักงานเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่า เอกสารประกอบการลงบัญชีทุกชนิด ต้นฉบับหรือคู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อของรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๖ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินในเขตสรรพากรเขต ๔ มีหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร ให้โจทก์นำไปส่งมอบเพื่อทำการตรวจสอบนั้นได้หายไปด้วย ทั้งโจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหาได้แจ้งเรื่องบัญชี ๕ เล่ม ของโจทก์สูญหายต่อสำนักงานบัญชีให้ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๘๕ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑๕ ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นตามหมายเรียกมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน ตามมาตรา ๑๙ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ ๒ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าได้ตามมาตรา ๗๑ (๑) ดังกล่าว
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยชอบหรือไม่ โจทก์อ้างว่าในกรณีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานีเท่านั้น ที่จะร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้โดยชอบ แต่การแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นร่วมกับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสรรพากรเขต ๔ เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๐ (๑) (ข) บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน สรรพากรเขตหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน” เห็นว่า จริงอยู่ที่จำเลยที่ ๓ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์เป็นสรรพากรเขต ๔ ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี แต่ตามกฎหมายมีอำนาจที่จะทำการประเมินเรียกเก็บภาษีในจังหวัดที่อยู่ภายในเขตอำนาจ รวมถึงประเมินเรียกเก็บภาษีของโจทก์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ได้ ดังนั้น การแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันเป็นคณะกรรมการจึงถือได้ว่าเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน