คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต้องถือตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจะนำราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมาคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บิดาชื่อนายเจ็กหรือเจ๊ก จำปาศรีมารดาชื่อนางลีหรือดี จำปาศรี นางลีถึงแก่ความตายก่อนนายเจ็กนายเจ็กมีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) 2 แปลง พร้อมบ้าน 1 หลัง เนื้อที่ 24 ไร่ 18 ตารางวา และ1 งานเศษ ตามลำดับ กับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน เมื่อนายเจ็กถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง โดยมอบให้นายสมบูรณ์ การกล้า เช่าทำนาในที่ดินเนื้อที่ 24 ไร่ 18 ตารางวานายเจ็กได้ทำพินัยกรรมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2533 โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินในส่วนของโจทก์ทั้งสองต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2533 โจทก์ทั้งสองได้ตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ พบว่าจำเลยทั้งสองโอนที่พิพาทแปลงเนื้อที่24 ไร่ 18 ตารางวา เป็นของจำเลยทั้งสองทั้งหมดโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 24 ไร่18 ตารางวา เป็นที่ดินที่นายเจ็กกับนางลีเป็นเจ้าของร่วมกันเมื่อนางลีถึงแก่ความตายที่ดินแปลงนี้จึงเป็นมรดกของนางลีจำนวน12 ไร่เศษ โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และนายเจ็กต่างก็มีสิทธิคนละ 1 ส่วน หรือคนละ 2 ไร่เศษ รวมเป็นของโจทก์ทั้งสอง 4 ไร่เศษคิดเป็นเงินประมาณ 57,600 บาท ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 1 งาน 96 ตารางวา และบ้าน 1 หลังรวมราคา 40,000 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคนละ 1 ส่วน รวมเป็นเงิน 20,000 บาท ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เนื้อที่งาน 1 งาน ราคาประมาณ 20,000 บาท โจทก์ทั้งสองมีส่วนได้รับคนละ 1 ส่วนรวมเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 24 ไร่18 ตารางวา ในส่วนของนางลี จำปาศรี จำนวน 12 ไร่เศษออกเป็น 5 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วน แบ่งที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 933 และบ้าน 1 หลังออกเป็น 4 ส่วนให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วน แบ่งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ออกเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วนโดยให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองหากไม่ปฎิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนในส่วนของบ้าน 1 หลัง หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ทั้งสองโดยเป็นบุตรของนายเจ็ก และนางลี จำปาศรีนางลีถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2519 ต่อมาวันที่ 10กรกฎาคม 2532 นายเจ็กถึงแก่ความตาย ขณะนายเจ็กและนางลีถึงแก่ความตายไม่มีทรัพย์มรดกใด ๆ เนื่องจากขณะยังมีชีวิตอยู่นายเจ็กได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่บุตรทุกคน โจทก์ทั้งสองก็ได้รับไปแล้ว โดยที่ดินเนื้อที่ 24 ไร่ 18 ตารางวา นายเจ็กทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ดินเนื้อที่ 1 งานเศษพร้อมบ้าน1 หลัง มิใช่ทรัพย์มรดกของนายเจ็กและนางลี แต่เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ทำมาหาได้ด้วยตนเอง ส่วนที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นายเจ็กได้ยกให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่จำเลยทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สำหรับอุทธรณ์ที่ว่าที่ดินเนื้อที่ 24 ไร่ 18 ตารางวา เป็นมรดกของนางลีครึ่งหนึ่งซึ่งตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองคนละ 1 ส่วน ส่วนที่ดินเนื้อที่ 2 งานเศษ ซึ่งเป็นมรดกของนางเจ็กและนางลี ตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองคนละ 1 ส่วนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อรวมที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าแต่ละคนจะได้รับมีราคาไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินแปลงเนื้อที่ 24 ไร่ 18 ตารางวา ทางราชการได้ประเมินราคาที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยให้ถือใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นเงิน 1,131,975 บาทเมื่อแบ่งครึ่งคือ 12 ไร่เศษ คิดเป็นเงิน 565,987.50 บาทโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 จึงต้องถือว่าราคาทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า 50,000 บาท ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้คำนวณราคาทรัพย์สินที่พิพาทรวมกันเป็นเงิน 87,600 บาท หรือถ้าคิดเฉพาะโจทก์แต่ละคนราคาทรัพย์ที่พิพาทกันเป็นเงิน 43,800 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นอย่างเดียวกับราคาทรัพย์สินที่พิพาทในศาลชั้นต้น ซึ่งต้องถือตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น จะนำราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมาคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หาได้ไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำนวณเช่นนั้นได้ กรณีของโจทก์ทั้งสองจึงมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share