แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทคือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา11,73วรรคสองโทษจำคุกตั้งแต่1ปีถึง20ปีและปรับตั้งแต่5,000บาทถึง200,000บาทและเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯมาตรา14,31วรรคสองโทษจำคุกตั้งแต่2ปีถึง15ปีและปรับตั้งแต่20,000บาทถึง150,000บาทจึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา11,73วรรคสองอันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฎจำเลยจำเลยทั้งสามทำไม้หวงห้ามในลักษณะเป็นนายทุนมีอิทธิพลเพื่อทำลายป่าแต่จำเลยได้ร่วมกันตัดฟันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีปริมาตรถึง32.38ลูกบาศก์เมตรนับว่าทำไม้จำนวนมากจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 5, 6, 7, 11 , 54, 58, 69, 72 ตรี, 73, 74 ทวิพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 6, 8, 9, 14, 31,35 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสามกับบริวารออกไปจากบริเวณป่าสงวนแห่งชาติที่ครอบครอง
จำเลย ทั้ง สาม ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทลงโทษหนักตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ จำคุกคนละ 8 ปี ฐานร่วมกัน ฐานร่วมกันมีไม้ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 8 ปี และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 17 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ8 ปี 6 เดือน ของกลางริบ ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากบริเวณป่าสงวนที่ครอบครอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้มีด ขวาน เลื่อยตัด โค่น เลื่อย ไม้อินทนิน แดงควน สมอแหน คอแห่ง หว้า กาสายกว้าว ดีหมีและนน ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. อันเป็นการทำไม้และทำให้เสื่อมสภาพป่าและป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุงรวม 14 ต้น ปริมาตร 32.38 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันมีไม้ดังกล่าวอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวจำนวน 4 ไร่ 50 ตารางวา โดยไม่ได้รับอนุญาต มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยทั้งสามในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยทั้งสามหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดเกี่ยวกับการร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพป่า ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสองซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยคนละ 8 ปี ความผิดเกี่ยวกับการมีไม้ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง จำคุกคนละ 8 ปี และความผิดฐานยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยคนละ 17 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งจำคุกคนละ 8 ปี 6 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คือ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 200,000 บาท และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาทจึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดเกี่ยวกับการร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทำให้เสื่อมสภาพป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง และโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสามนั้นหนักเกินไปเพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสามได้ทำไม้ในลักษณะเป็นนายทุนมีอิทธิพลเพื่อทำลายป่าสมควรแก้ไขให้เหมาะแก่รูปคดี โดยความผิดตามข้อหาแรกจำคุกคนละ3 ปี ข้อหาที่สองจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ข้อหาที่สามจำคุกคนละ8 เดือน รวมเป็นจำคุกจำเลยคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี 6 เดือน แต่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันตัดฟันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีปริมาตร32.38 ลูกบาศก์เมตร นับว่าทำไม้จำนวนมาก จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง จำคุกคนละ 3 ปี ข้อหามีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ข้อหายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติจำคุกคนละ 8 เดือน รวมเป็นจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี6 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3