คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9365/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความปลอมรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ขึ้นทั้งฉบับโดยมีใจความสำคัญว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 นำเอกสารปลอมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโดยมีโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อโจทก์ได้ชำระราคาที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต หรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เมื่อ พ. หัวหน้าส่วนงานหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเบิกความว่า ไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ปลอมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อโจทก์จะถือเอาคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 และกระทำการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วสรุปว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 หาได้ไม่
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) และหากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้โจทก์สามารถเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายและจะถือว่าจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) กระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 16,233,384.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลชั้นต้นเรียกชื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 4 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์จึงให้เรียกบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,387,353.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 898,605 บาท นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งเงินค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ออกเป็น 5 ส่วน โดยจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดเพียง 1 ส่วน ให้จำเลยที่ 5 เสียดอกเบี้ยในเงินค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ในอัตราและตามกรอบระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเฉพาะค่าขึ้นศาลให้แบ่งใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการในชั้นบังคับคดีเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่าถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ตรวจดูสำเนารายงานกระบวนพิจารณาแล้วว่า การรับรองสำเนาถูกต้องของรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมีลักษณะเช่นเดียวกับอีกหลายคดีของบริษัททำให้ไม่มีเหตุระแวงสงสัยในเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้นางพจนีย์ หัวหน้าส่วนหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อพยานดูรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวแล้ว พยานก็ไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานนี้ปลอมหรือไม่ อย่างไรและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 5 ว่า หากพยานไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะไม่มีความสงสัยในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต จงใจหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการผิดกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าอยู่ในขอบอำนาจแห่งฐานการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 อีกทั้งจำเลยที่ 4 ก็มิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องทางการที่จ้างและขอบอำนาจแห่งฐานเป็นตัวแทน เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการมีความผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ 427 เห็นว่า ความรับผิดของผู้ว่าจ้างหรือตัวการในทางแพ่งอันเนื่องมาจากการทุจริตของผู้รับจ้างหรือตัวแทนนั้น หาใช่เพราะเหตุของการเป็นผู้ว่าจ้างหรือตัวการแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างหรือตัวการในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ 4 ได้ทุจริตปลอมรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ขึ้นทั้งฉบับ มีใจความสำคัญว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าวโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 ให้กระทำการปลอมรายงานกระบวนพิจารณานั้นจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำสำเนาเอกสารดังกล่าวไปมอบให้แก่นายนิกร หัวหน้าส่วนบังคับคดีของบริษัทสำนักกฎหมาย ซี. เอ. แอล. จำกัด เก็บไว้ในสำนวนคดีของบริษัท ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มอบสำเนารายงานกระบวนพิจารณานั้นให้จำเลยที่ 3 ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยจำเลยที่ 2 ได้ตรวจดูสำเนารายงานกระบวนพิจารณาแล้วว่าการรับรองสำเนาถูกต้องของเอกสาร มีลักษณะเช่นเดียวกับอีกหลายคดีของบริษัท จึงถือว่า จำเลยที่ 4 ได้ตรวจสอบด้วยความระมัดระวังแล้ว นอกจากนั้นเมื่อได้พิจารณาดูสำเนารายงานกระบวนพิจารณาที่ถูกปลอมแล้ว ก็เป็นการยากที่จะรู้ว่าปลอมหรือไม่เพราะแม้แต่นางพจนีย์ หัวหน้าส่วนงานหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเองก็เบิกความว่าไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวปลอมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วโดยมิได้ประมาทเลินเล่อ โจทก์จะถือเอาคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 และกระทำตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แล้วสรุปว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 หาได้ไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ประการต่อมามีว่าจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบแล้วดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ดังกล่าว ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ซึ่งเป็นการประกาศขายครั้งที่ 7 ถึงครั้งที่ 10 ปรากฏว่าในการขายทอดตลาดครั้งที่ 9 วันที่ 9 เมษายน 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงเคาะไม้ให้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้ในราคา 31,000,000 บาท ตามสำเนารายงานเจ้าหน้าที่ วันที่ 22 เมษายน 2547 โจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินดังกล่าวครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน ให้จดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือกองจำหน่ายทรัพย์สินกรมบังคับคดี หากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้ โจทก์ก็สามารถเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว เมื่อนางสมเจตน์ ผู้จัดการมรดกของนายวุฒิชัย ลูกหนี้เดิมซึ่งถูกยึดทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยวินิจฉัยว่าการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดที่ดิน เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย และจะถือว่าจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หาได้ไม่ นอกจากนี้ ในวันที่โจทก์ประมูลซื้อที่ดินได้ โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ซึ่งในข้อ 5 ของหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า หากศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีนี้ได้ชี้ขาดต่อมาภายหลังว่าที่ดินนั้นไม่ใช่ของจำเลยหรือเพราะเหตุอื่น ๆ ก็ดี อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ สัญญาซื้อขายนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินที่ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ได้ชำระไว้ ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) จะไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายแต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน อันมีผลให้โจทก์ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้กำไรจากการขายที่ดินดังกล่าวตามที่โจทก์ฎีกาอีกด้วย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์เป็นเพียงประเด็นปลีกย่อย ที่ไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 ที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share