คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 2,044,311 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2554) แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 3 รับผิดไม่เกิน 1,000,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3และคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 และพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าเสียหายเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,044,311 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในเงินจำนวนดังกล่าว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท กำหนดค่าทนายความให้โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 63/2555 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส โดยโจทก์ไม่มีส่วนประมาทด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะมาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ สำหรับความเสียหาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส กระดูกขาขวาหัก กระดูกเชิงกรานแตก นับแต่วันเกิดเหตุวันที่ 3 เมษายน 2553 ถึงวันฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2554 โจทก์ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลระยองและที่โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง ต้องรับการผ่าตัดใส่โลหะดามกระดูกกับผ่าตัดเอ็นร้อยหวายหลายครั้ง หลังผ่าตัดโจทก์ยังคงมีอาการปวดเรื้อรัง ข้อเท้าขวาผิดรูป เดินไม่ได้ตามปกติต้องมีไม้พยุงค้ำยัน และต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะ ๆ ไม่มีกำหนด โดยนายแพทย์สมบูรณ์ แพทย์โรงพยาบาลระยอง สรุปการรักษาแล้วลงความเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ป่วยทุพพลภาพถาวรของขาขวา ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีก 2 ถึง 3 ครั้ง เพื่อบรรเทาความพิการ และโจทก์ยังคงต้องเข้ารับการรักษาทางแพทย์แผนไทย เพื่อบรรเทาอาการปวดและทำกายภาพบำบัดตลอดมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ใบหน้าโจทก์ยังมีร่องรอยบาดแผลเสียโฉมอย่างติดตัว มีอาการปวดศีรษะตลอดเวลาเนื่องจากศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุรถชน ตามใบรับรองแพทย์อันดับที่ 71 แผ่นที่ 15 เวชระเบียน และบันทึกการรักษา เห็นได้ชัดว่า โจทก์มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง แม้บาดแผลภายนอกจะหาย อวัยวะก็ไม่อาจใช้การได้ดังเดิม ต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต เป็นผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ต้องออกจากงานประจำที่เคยทำอยู่ที่สถานีบริการน้ำมันสหกรณ์การเกษตรบ้านค่าย จำกัด สาขาหนองกรับ ซึ่งมีรายได้เดือนละ 7,500 บาท ตามหนังสือรับรองเงินเดือน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการรักษา ค่าเสียความสามารถในการประกอบกิจการงานและค่าเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน อันเป็นค่าความเสียหายทางจิตใจอันเกิดแต่การทำละเมิดของตนแก่โจทก์
สำหรับค่าเสียหายอันเป็นค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งในเรื่องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 454,311 บาท ที่โจทก์นำสืบว่ามีการจ่ายไปตามเอกสารหลักฐานการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและสำเนาประวัติการรักษา เห็นว่า ปรากฏตามใบแจ้งหนี้ ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 15,000 บาท และระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 4 ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์อีก 35,000 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 สิงหาคม 2555 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับและจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ด้วย เงินที่จำเลยที่ 4 จ่ายให้แก่โจทก์ในส่วนนี้ จึงต้องถือว่าเป็นการจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับชดใช้ จึงต้องนำมาหักออก แต่ในส่วนของเงินค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด จ่ายไปจำนวน 60,000 บาท ตามใบแจ้งหนี้ เห็นว่า บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แม้บริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการจ่ายเงินแทนผู้ทำละเมิดและไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ในส่วนค่าพาหนะที่โจทก์ต้องเดินทางไปรักษาพยาบาล แม้โจทก์ไม่นำสืบว่าโจทก์ต้องเดินทางไปรักษาที่ไหน กี่ครั้ง ครั้งละเท่าไร และบ้านพักอยู่ห่างจากโรงพยาบาลเท่าไรอย่างที่จำเลยที่ 1 ฎีกา แต่จากอาการบาดเจ็บของโจทก์ทำให้โจทก์ต้องเป็นคนพิการเดินไม่ได้ตามปกติ ต้องใช้ไม้ค้ำยันและจากการรักษาตัวของโจทก์น่าเชื่อว่าโจทก์ต้องเสียค่าพาหนะจ้างเหมารถเดินทางจากบ้านพักไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรวมทั้งค่าพาหนะของญาติที่ไปเฝ้าโจทก์ที่โรงพยาบาลในระหว่างผ่าตัดอย่างที่โจทก์เบิกความเป็นจำนวนหลายครั้งจริง เมื่อโจทก์ยังต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปอีกเป็นระยะ ๆ ไม่มีกำหนดโดยต้องรับการผ่าตัดอีก 2 ถึง 3 ครั้ง เพื่อบรรเทาความพิการและต้องเข้ารับการรักษาตัวด้วยแพทย์แผนไทยเพื่อบรรเทาอาการปวดและทำกายภาพบำบัดตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์จึงยังต้องเสียค่าพาหนะในการจ้างเหมารถอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ค่าพาหนะจึงไม่ใช่เป็นเงิน 10,000 บาท อย่างที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้เป็นเงิน 50,000 บาท เห็นว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ในส่วนที่โจทก์ต้องเสียความสามารถในการประกอบการงาน โจทก์ต้องเป็นคนพิการเดินไม่ได้ตามปกติต้องมีไม้ค้ำยัน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะมาฎีกาอ้างว่าโจทก์สามารถช่วยเหลือตัวเองและเดินได้แล้ว โดยโจทก์สามารถที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี นั้น ไม่ได้ จากอาการบาดเจ็บของโจทก์เมื่อโจทก์ต้องออกจากงานประจำที่เคยทำอยู่ โจทก์จึงต้องเสียความสามารถในการประกอบการงาน แม้โจทก์ไม่มีพยานผู้ออกหนังสือรับรองเงินเดือน มาเบิกความยืนยัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบโต้แย้ง จึงรับฟังได้ว่าก่อนออกจากงานโจทก์มีรายได้จากการทำงานที่สถานีบริการน้ำมันเดือนละ 7,500 บาท เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุ 40 ปี สุขภาพแข็งแรงจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ต้องทำงานต่อไปได้อีกอย่างน้อยถึงอายุ 60 ปี กรณีจะไปกำหนดค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 178 บาท เป็นเงิน 250,000 บาท อย่างที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลาเพียง 15 ปี เป็นเงิน 1,440,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว และจากอาการบาดเจ็บของโจทก์ ในส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ต้องเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต จึงไม่ใช่มีเพียงจำนวน 50,000 บาท อย่างที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้ 100,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้วเช่นกัน รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ 1,994,311 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 3 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การจำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 1,994,311 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเงินจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share