คำวินิจฉัยที่ 81/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่กองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดขอให้คืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และเงินบำเหน็จดำรงชีพ ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย โดยโจทก์มีหนังสือเรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปเกินสิทธิ และส่งเงินคืนคลัง ซึ่งมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครองฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าว จึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์รับผิดคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ จึงไม่ใช่ความรับผิดอันเกิดจากการที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันจะเข้าหลักเกณฑ์ความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททาง ปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิอันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ กองทัพเรือ โจทก์ ยื่นฟ้องพันจ่าเอก เทพมงคล เจริญนิช จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๐๘/๒๕๕๖ ความว่า เดิมจำเลยรับราชการสังกัดโจทก์ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำเลยได้รับเงินบำนาญ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และเงินบำเหน็จดำรงชีพ จากโจทก์รวมเป็นเงิน ๖๗๓,๒๐๘.๕๐ บาท ต่อมา กรมบัญชีกลางได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวายว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาลเมืองสระแก้ว ตำแหน่งเจ้าพนักงานเทศกิจ ๓ ตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๒ และโอนย้ายเรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย จังหวัดอุบลราชธานี โดยที่การกลับเข้ารับราชการของจำเลยเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘ (๓) ระบุว่า ทหารซึ่งได้รับเบี้ยหวัดอยู่แล้ว ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ ระบุว่า ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. ตามมาตรา ๓ หรือมาตรา ๔ ถ้าเข้ารับราชการหรือกลับเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานหรือกลับเข้าทำงานสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และบำเหน็จดำรงชีพ นับแต่วันที่กลับเข้ารับราชการ อันเป็นการรับเงินเบี้ยหวัด ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพเกินสิทธิโดยไม่มีสิทธิ กรมบัญชีกลางจึงงดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ และแจ้งให้โจทก์เรียกคืนเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพ โจทก์มีหนังสือที่ กห ๐๕๐๐/๖๘๙ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ แจ้งให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๗๐๖,๙๖๑.๑๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๖๗๓,๒๐๘.๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยรับราชการสังกัดโจทก์และได้ลาออกจากราชการ ได้รับเงินบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพจากโจทก์จริง การลาออกของจำเลย โจทก์ทราบดีและได้คิดเบี้ยหวัดบำนาญให้จำเลยตามอายุราชการและจ่ายเงินดังกล่าวผ่านบัญชีธนาคารให้จำเลยเอง หากจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ย่อมจะไม่จ่ายให้แก่จำเลยตลอดมา จำเลยรับเงินไปจากโจทก์โดยสุจริต ประกอบกับตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มิได้ใช้บังคับกับบุคคลที่ลาออกไปบรรจุเป็นพนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล จำเลยจึงมีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยหวัดบำนาญตามสิทธิของจำเลย อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า เดิมจำเลยรับราชการเป็นทหารเรือสังกัดโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ต่อมาวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำเลยลาออกจากราชการ และวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๒ จำเลยกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานเทศกิจ ๓ เทศบาลเมืองสระแก้ว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ มาตรา ๙ แต่จำเลยยังคงได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพจากโจทก์ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๗๓,๒๐๘.๕๐ บาท ซึ่งตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ หมวด ๔ ข้อ ๘ (๓) ระบุว่า ทหารซึ่งได้รับเบี้ยหวัดอยู่แล้วให้งดเบี้ยหวัดในกรณีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ (๑) ระบุว่า ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. ถ้าเข้ารับราชการหรือกลับเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานหรือกลับเข้าทำงานสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการ ส่วนท้องถิ่น จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นคดีฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลย ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย คดีพิพาทจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องว่า เนื่องจากจำเลยลาออกจากราชการทหารสังกัดโจทก์ โจทก์จึงจ่ายเงินบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพให้จำเลย ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ รวมเป็นเงิน ๖๗๓,๒๐๘.๕๐ บาท ต่อมา กรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่า ภายหลังจากที่จำเลยลาออกจากราชการทหาร จำเลยได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นเจ้าพนักงานเทศกิจ ๓ สังกัดเทศบาลเมืองสระแก้ว เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๒ และโอนย้ายเรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการกลับเข้ารับราชการส่วนท้องถิ่น ในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับบำนาญและ ช.ค.บ. ตามข้อ ๘ วรรคหนึ่ง (๓) ของข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และเมื่อไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพด้วย กรมบัญชีกลางจึงงดจ่ายเงินทั้งหมดตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ และให้โจทก์เรียกคืนเงินที่จำเลยได้รับไปเกินสิทธิ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่รับไปเกินสิทธิพร้อมดอกเบี้ย เมื่อมูลเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยสืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางพิจารณาสั่งจ่ายเงินบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพให้จำเลย อันเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางใช้อำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับ เบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หลังจากนั้น กรมบัญชีกลางตรวจพบว่าการพิจารณาสั่งจ่ายเงินบำนาญ ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพให้จำเลยไม่ถูกต้อง กรมบัญชีกลางจึงงดจ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยพร้อมทั้งแจ้งให้โจทก์ดำเนินการเรียกให้จำเลยชำระเงินคืน อันเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางพบว่าคำสั่งจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แล้วให้โจทก์ใช้อำนาจตามข้อ ๓๑ ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๕๐ เรียกเงินส่วนที่จำเลยได้รับเกินสิทธิคืน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และเงินบำเหน็จ ดำรงชีพ ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่กรมบัญชีกลางได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวายว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาลและโอนย้ายเรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย เป็นเหตุให้ต้องงดเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. และกรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย โดยข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘(๓) ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีที่ทหารผู้นั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. ตามมาตรา ๓ หรือมาตรา ๔ ถ้าเข้ารับราชการหรือกลับเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานหรือกลับเข้าทำงานสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น และเมื่อไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพด้วย จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไปเกินสิทธิคืน ดังนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว โจทก์มีเพียงหนังสือที่ กห ๐๕๐๐/๖๘๙ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ เรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด ช.ค.บ. และบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปเกินสิทธิ และส่งเงินคืนคลัง เท่านั้น การออกหนังสือของโจทก์มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าว จึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์รับผิดคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ จึงไม่ใช่ความรับผิดอันเกิดจากการที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันจะเข้าหลักเกณฑ์ความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย ซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิ อันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกองทัพเรือ โจทก์ พันจ่าเอก เทพมงคล เจริญนิช จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share