คำวินิจฉัยที่ 82/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดเพื่อเรียกเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) คืน โดยโจทก์มีหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำหนังสือรับสภาพหนี้และทำสัญญาผ่อนชำระหนี้กรณีรับเงินไปเกินสิทธิ ซึ่งมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์รับผิดคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิจึงไม่ใช่ความรับผิดอันเกิดจาก การที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายหรือออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันจะเข้าหลักเกณฑ์ความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิอันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๒/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กองทัพบก โจทก์ ยื่นฟ้องจ่าเอก ขจรศักดิ์ เต็มดี จำเลยต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑๒/๒๕๕๗ ความว่า เดิมจำเลยเคยรับราชการเป็นทหารเรือตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๘ และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ รวมเวลารับราชการ ๓ ปี ๒๐ วัน โดยขณะจำเลยลาออกนั้นจำเลยได้รับเงินเดือนในอัตรา ๖,๑๖๐ บาท จึงมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และได้รับเบี้ยหวัดเดือนละ ๑,๘๔๘ บาท และในแต่ละปียังได้รับเงินเพิ่มเบี้ยหวัดจากกรมบัญชีกลางซึ่งจ่ายเป็นเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ(ช.ค.บ.) ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ เพิ่มทุกปีเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำเลยได้กลับเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่จำเลยไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดและแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นส่วนราชการที่เบิกจ่ายเบี้ยหวัดของตนทราบ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๑๐ ซึ่งตามข้อบังคับ ข้อ ๘ กำหนดให้งดเบี้ยหวัดสำหรับข้าราชการที่กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยจำเลยยังคงรับเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) นับแต่วันที่จำเลยกลับเข้ารับราชการดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยได้รับเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เกินสิทธิ เป็นเงิน ๕๗๒,๐๙๐.๐๓ บาท โจทก์มีหนังสือแจ้งกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานจ่ายตรง ขอให้งดจ่ายเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) สำหรับข้าราชการตามโครงการจ่ายตรง กรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้จำเลยแล้ว และโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยให้มาทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่รับไปเกินสิทธิพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน ๖๔๗,๕๙๘.๐๘ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เรียกเงินคืนย้อนหลังทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของจำเลย โดยจำเลยรับเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามสิทธิที่เกิดขึ้นโดยสุจริต จำเลยไม่เคยได้รับแจ้งว่าไม่มีสิทธิรับเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ความผิดเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่โจทก์ที่ปล่อยให้มีการเบิกจ่ายเงินเกินสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้คำฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) หลังจากที่จำเลยเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ จำเลยไม่แจ้งหรือรายงานให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดและโจทก์ซึ่งเป็นส่วนราชการที่เบิกจ่ายเบี้ยหวัดทราบ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ไม่ใช่เป็นเรื่องหรือกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือไม่ได้ฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่งของโจทก์ในอันที่จะฟ้องเรียกทรัพย์ที่จำเลยรับไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายคืนจากจำเลย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็นปัญหาหลักที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการคืนเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ แม้การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็มิได้ทำให้การดำเนินการของโจทก์เป็นการใช้สิทธิทางแพ่งในฐานะเอกชนฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลย แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ การเรียกให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ตรวจพบว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้ต้องงดเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. และกรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘ (๓) ที่ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีที่ทหารผู้นั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด หรือบำนาญไม่มีสิทธิได้รับ ช.ค.บ. ถ้า (๑) เข้ารับราชการ หรือกลับเข้ารับราชการ หรือเข้าทำงาน หรือกลับเข้าทำงานสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น จำเลยจึงต้องคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ที่ได้รับเกินสิทธิไปแก่โจทก์ ดังนี้ เห็นว่า แม้คำสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลยจะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับไปเกินสิทธิ จำเลยให้การว่า การเรียกคืนเงินย้อนหลังดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของจำเลย โดยมิได้โต้แย้งว่าคำสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยหวัด และ ช.ค.บ. ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง คดีมีประเด็นต้องพิจารณาเพียงว่า การที่โจทก์เรียกคืนเงินเบี้ยหวัดและ ช.ค.บ. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการเรียกคืนเงินดังกล่าว โจทก์มีเพียงหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำหนังสือรับสภาพหนี้และทำสัญญาผ่อนชำระหนี้กรณีรับเงินไปเกินสิทธิ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๖ เท่านั้น การออกหนังสือของโจทก์มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ฐานอันเป็นที่มาของข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสังกัดโจทก์รับผิดคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิจึงไม่ใช่ความรับผิดอันเกิดจากการที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายหรือออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันจะเข้าหลักเกณฑ์ความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเสียแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิหรือเกินสิทธิ อันเป็นการรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกองทัพบก โจทก์ จ่าเอก ขจรศักดิ์ เต็มดี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share