คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตได้ร่วมกันกระทำละเมิดด้วยการเอาชื่อทางการค้าคำว่าSABและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องไปใช้ในการประกวดราคาผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติทั้งสองครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และร่วมกันจัดทำแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของSAB ที่มีรูปแบบภาพจำลองคำบรรยายเหมือนคล้ายและละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปภาพจำลองเป็นเหตุให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ตามใบประกวดราคาทั้งสองครั้งที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำและยื่นต่อคณะกรรมการเปิดซองประกวดเป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์และอยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และได้พิจารณาซื้อเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติตามใบประกวดราคาทั้งสองครั้งที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเสนอแทนการรับซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโตมัติของแท้ของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายโดยไม่อาจขายสินค้าของโจทก์ได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังนี้เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วส่วนรายละเอียดว่าโจทก์เสียหายอย่างไรจึงเป็นค่าเสียหายจำนวนตามฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยทั้งสองได้เสนอขายสินค้าแก่ร.โดยระบุไปตามความเป็นจริงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศโปแลนด์ มิใช่สินค้าของโจทก์ที่ผลิตในประเทศสวีเดนจำเลยทั้งสองหาได้ระบุว่าสินค้าที่เสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ประเทศสวีเดนไม่ทั้งปรากฎตามเงื่อนไขรายละเอียดของการประกวดราคาว่าร.ต้องการซื้อเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่ผลิตโดยSAB ประเทศสวีเดน หรือเทียบเท่ามิได้ระบุว่าต้องการซื้อเฉพาะสินค้าของโจทก์เท่านั้นประกอบกับเหตุที่ประธานกรรมการเปิดซองประกวดราคาของร.รับซื้อสินค้าของจำเลยที่1เนื่องจากราคาต่ำสุดและใช้แทนของเดิมได้จึงได้เสนอให้ร.รับซื้อไว้ขณะตรวจรับก็ได้ทำการทดสอบและตรวจสอบก่อนปรากฎว่าใช้การได้กรรมการตรวจสอบมิได้หลงเชื่อหรือหลงผิดในข้ออ้างที่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของSAB หรือไม่ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำวาSAB ของโจทก์ แม้รูปแบบภายจำลองและคำบรรยายในแคตตาล๊อกผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่ทำขึ้นในประเทศสวีเดนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ.2521อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและโจทก์เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นแต่แคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองเสนอต่อร.เป็นแคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองได้รับมาจากประเทศโปแลนด์มิใช่แคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นโดยลอกเลียนแคตตาล็อกของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงยังไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า SAB และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า SAB และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า SAB และเครื่องหมายการค้าSAB ในวงกลมบนเส้นตรงขนาด 2 เส้น โจทก์ได้ใช้และโฆษณาชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าข้างต้นกับผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติ เบรกและล้อสำหรับใช้กับยวดยานที่แล่นบนรางมาเป็นเวลานานในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SAB ไว้เพื่อใช้กับสินค้าเบรกและล้อสำหรับใช้กับยวดยานที่แล่นบนรางและสินค้าอื่น ๆ ทั้งมวลที่อยู่ในจำพวกที่ 13 รวมถึงเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติด้วย ทั้งโจทก์ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปแบบ ภาพจำลอง และคำบรรยายแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติของ SAB เมื่อ พ.ศ. 2531จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นซองใบประกวดราคาเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติต่อคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาการรถไฟแห่งประเทศไทย รวม 2 ครั้ง ซึ่งในการประกวดราคาทั้งสองครั้งระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามอัตโนมัติภายใต้ลิขสิทธิ์ของ SAB ซึ่งไม่เป็นความจริงอันเป็นการใช้ชื่อทางการค้าคำว่า SAB ของโจทก์ เพื่อให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามใบประกวดราคาทั้งสองนั้นเป็นผลิตภัณฑ์หรือเป็นการค้าของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์ และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันจัดทำแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของ SAB ที่มีรูปแบบภาพจำลองคำบรรยายเหมือนคล้าย และละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบภาพจำลองคำบรรยายในแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ข้างต้นของโจทก์ และแบบปกแคตตาล็อกก็มีรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์เสนอต่อคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติตามแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ที่จำเลยทั้งสองเสนอต่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้เป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ และมิได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ผลิตขึ้นโดยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า SAB เป็นเหตุให้คณะกรรมการนั้นหลงเชื่อ และได้รับซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทนการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของแท้ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยไม่อาจขายสินค้าของโจทก์ได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า SAB และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 แต่เพียงผู้เดียวและห้ามจำเลยทั้งสองใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์รวมทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์อีก โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปแบบภาพจำลอง และคำบรรยายแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 แต่เพียงผู้เดียว และห้ามจำเลยทั้งสองจัดทำหรือใช้แคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ตามเอกสารท้ายฟ้องเอกสารเลข 6 หรือแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบ ภาพจำลองและคำบรรยายเหมือนคล้ายรูปแบบภาพจำลอง และคำบรรยายในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 อีก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทั้งสองยื่นใบประกวดราคาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งสองครั้ง โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงงานบูมาฟาบล็อกประเทศโปแลนด์ ไม่เคยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ซึ่งโรงงานนี้ได้จัดส่งเอกสารและแคตตาล็อกมาให้จำเลยทั้งสองโดยอ้างเพียงว่า ทางโรงงานได้ลิขสิทธิ์การผลิตจาก SABประเทศสวีเดนเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้ทำเอกสารเกี่ยวกับหรืออ้างอิงเครื่องหมายการค้าคำว่า SAB จึงไม่ต้องรับผิด และค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท ที่โจทก์ฟ้องมาโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าเสียหายอย่างไรจึงเป็นจำนวนดังกล่าว เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตได้ร่วมกันกระทำละเมิดด้วยการเอาชื่อทางการค้าคำว่า SAB และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องไปใช้ในการประกวดราคาผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติทั้งสองครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และร่วมกันจัดทำแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของSAB ที่มีรูปแบบ ภาพจำลองคำบรรยายเหมือนคล้าย และละเมิดลิขสิทธิ์ ในรูปภาพจำลองคำบรรยายในแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของโจทก์และแบบปกแคตตาล็อกก็มีรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์เสนอต่อคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาทั้งที่ผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่จำเลยทั้งสองเสนอในการประกวดราคามิใช่ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ เป็นเหตุให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ตามใบประกวดราคาทั้งสองครั้งที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำและยื่นต่อคณะกรรมการเปิดซองประกวดเป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์และอยู่ภายในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และได้พิจารณาซื้อเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติตามใบประกวดราคาทั้งสองครั้งที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเสนอแทนการรับซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติของแท้ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยไม่อาจขายสินค้าของโจทก์ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วส่วนรายละเอียดว่าโจทก์เสียหายอย่างไรจึงเป็นค่าเสียหายจำนวนตามฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดสิทธิในชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ทางการค้าคำว่า SAB ของโจทก์และละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบภาพจำลอง และคำบรรยายในแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของ SAB ซึ่งเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามสำเนารายการละเอียดและราคาลงวันที่ 7 มกราคม 2531 และ11 เมษายน 2531 ของจำเลยทั้งสอง ที่ยื่นต่อการรถไปแห่งประเทศไทยระบุว่า เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่เสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศโปแลนด์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ SAB ดังพิมพ์เขียวแบบโดยมีฟาปล็อกประเทศโปแลนด์ เป็นผู้ทำ ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า SAB เป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ในประเทศสวีเดนแต่การที่จำเลยทั้งสองระบุในรายการละเอียดและราคาดังกล่าวกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้เสนอขายสินค้าแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยโดยระบุไปตามความเป็นจริงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศโปแลนด์ มิใช่สินค้าของโจทก์ที่ผลิตในประเทศสวีเดน ส่วนที่ระบุว่าภายใต้ลิขสิทธิ์ของ SAB ก็มีความหมายว่า ผู้ผลิตในประเทศโปแลนด์ได้รับอนุญาตให้ผลิตสินค้านั้นโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SAB ซึ่งโคลเม็กซ์เป็นบริษัทในประเทศโปแลนด์ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท SAB ในประเทศสวีเดนให้ผลิตสินค้าและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ก่อนหน้าที่จำเลยทั้งสองจะยื่นใบเสนอราคาต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเพียงวันเดียวเมื่อ พ.ศ. 2511 โจทก์ได้เคยทำสัญญาอนุญาตให้โคลเม็กซ์ผลิตสินค้าเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติและใช้เครื่องหมายการค้า SABกับสินค้าดังกล่าว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530 เห็นได้ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเพิ่งสิ้นอายุไปก่อนที่จำเลยทั้งสองจะยื่นใบเสนอราคาครั้งแรกเพียง 7 วัน ทั้งโคลเม็กซ์ก็มิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่าสัญญาดังกล่าวสิ้นอายุไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าโคลเม็กซ์เห็นว่าสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศไทยนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นแล้วระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเมื่อจำเลยทั้งสองได้ทราบการยืนยันจากโคลเม็กซ์ว่าโคลเม็กซ์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิการผลิตสินค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า SAB ก็ยื่นใบเสนอราคาทั้งสองครั้งต่อการการรถไฟแห่งประเทศไทยไปตามที่ทราบ จำเลยทั้งสองหาได้ระบุว่าสินค้าที่เสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ประเทศสวีเดนไม่ทั้งปรากฎตามเงื่อนไขรายละเอียดของการประกวดราคา ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการซื้อเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่ผลิตโดย SAB ประเทศสวีเดนหรือเทียบเท่ามิได้ระบุว่าต้องการซื้อเฉพาะสินค้าของโจทก์เท่านั้น ประกอบกับเหตุที่ประธานกรมการเปิดซองประกวดราคาของการรถไฟแห่งประเทศไทยรับซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 เนื่องจากราคาต่ำสุดและใช้แทนของเดิมได้ จึงได้เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับซื้อไว้ ขณะตรวจรับก็ได้ทำการทดสอบและตรวจสอบก่อนปรากฎว่าใช้การได้ กรรมการตรวจสอบมิได้หลงเชื่อหรือหลงผิดในข้ออ้างที่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของ SAB หรือไม่ ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองยื่นซองประกวดราคาเครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติทั้งสองครั้งไม่เป็นความจริงอันเป็นการใช้ชื่อทางการค้าคำว่า SAB ของโจทก์เพื่อให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาของการรถไฟแห่งประเทศไทยหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ตามใบประกวดราคาทั้งสองดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์หรือเป็นการค้าของโจทก์ ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่นั้นแม้จะฟังว่ารูปแบบภาพจำลองและคำบรรยายในแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์เครื่องร่นแท่งห้ามล้ออัตโนมัติที่ทำขึ้นในประเทศสวีเดนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและโจทก์เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น แต่โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดทำแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอันเป็นการทำซ้ำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองเสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ปรากฎที่หน้าแรกของแคตตาล็อกดังกล่าวว่าเป็นแคตตาล็อกที่จัดทำภายใต้การอนุญาตให้ใช้สิทธิของ SAB ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า แคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองเสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นเป็นแคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองได้รับมาจากประเทศโปแลนด์ มิใช่แคตตาล็อกที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นโดยลอกเลียนแคตตาล็อกของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share