แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 โดยดำเนินการก่อสร้างผิดไปจากเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ซึ่งต้องระวางโทษจำเลยตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองจึงไม่เกินคำขอ
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่แก้ไขแล้วบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำการควบคุมการก่อสร้างอาคารโดยมิได้จัดให้มีเครื่องป้องกันวัสดุตกหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบตัวอาคารที่ก่อสร้าง อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ซึ่งจำเลยทราบแล้ว พร้อมทั้งอ้างพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิด ตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดครบถ้วนสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารเพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพ ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอีก
ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาที่จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานของบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ควบคุมการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมที่บริษัทสยามเอสเตท จำกัด ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างบริเวณซอยศาลาแดง 1 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง บริษัทสยามเอสเตท จำกัด ได้แจ้งให้บริษัทอิตาเลี่ยไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำการก่อสร้างให้ตรงตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานกำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยจำต้องมีผ้าใบหรือวัสดุเทียบเท่าหรือดีกว่าเป็นเครื่องป้องกันวัสดุก่อสร้างตกหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบตัวอาคารที่ก่อสร้างดังกล่าวด้วย และบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองได้ควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยมิได้จัดให้มีเครื่องป้องกันวัสดุตกหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบตัวอาคารที่ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2540 เวลากลางวัน นายตรวจเขตบางรักตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง จึงรายงานให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตบางรักทราบ และต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2540 เจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตบางรักได้ทำคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน โดยปิดคำสั่งไว้ที่บริเวณก่อสร้าง จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2540 หลังจากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสองจึงจัดให้มีเครื่องป้องกันวัสดุตกหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบตัวอาคารตามคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 65, 70
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 70,000 บาท กับปรับอีกวันละ คนละ 2,500 บาท รวม 243 วัน เป็นเงิน 607,500 บาท รวมจำคุก คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 677,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 338,750 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง โดยคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุแต่บทมาตราดังกล่าว มิได้ระบุวรรคมาด้วยเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”
ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนมาตรา 31 โดยดำเนินการก่อสร้างผิดไปจากเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต จึงต้องระวางโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองนั้น จึงไม่เกินคำขอ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองมีว่าฟ้องของโจทก์ที่มิได้ระบุประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารเพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพ ชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2533 ข้อ 2 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ หรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต” ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการควบคุมการก่อสร้างอาคารโดยมิได้จัดให้มีเครื่องป้องกันวัสดุตกหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบตัวอาคารที่ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ซึ่งจำเลยทั้งสองทราบแล้วพร้อมทั้งอ้างพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ดังกล่าว จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดครบถ้วนสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่จำต้องระบุประกาศกรุงเทพมหานครตามที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวอีก
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน