คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับการจัดสรรส่วนแบ่งสลากที่จะนำไปจำหน่ายจากสำนักงานสลากกินแบ่ง เรียกว่าผู้ได้รับโควต้า ซึ่งจะค้าสลากโดยตรงหรือจะมอบสลากให้ผู้อื่นไปจำหน่ายอีกต่อก็ได้ ถ้าจำเลยไปซื้อสลากจากกองสลากด้วยตนเองจำเลยจะต้องลงทุนใช้เงินส่วนตัวของจำเลยซื้อสลาก จำเลยจึงทำหนังสือมอบฉันทะซื้อสลากให้โจทก์เป็นผู้ซื้อมีระยะเวลา 1 ปี โดยตกลงกันว่าจำเลยจะได้ส่วนลดเล่มละ 8 บาท โจทก์ได้ส่วนลดเล่มละ 6 บาท โจทก์เป็นผู้ลงทุนซื้อสลากและต้องจำหน่ายสลากเอง มิได้นำมามอบให้จำเลย หากจำหน่ายไม่หมดโจทก์จะต้องขาดทุน แต่จำเลยยังได้รับส่วนลดเล่มละ 8 บาท เท่าเดิมโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงและเสี่ยงต่อการขาดทุนแต่อย่างใดข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องตัวการตัวแทนธรรมดา แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานอกจากโจทก์ยินยอมด้วยหรือโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยถอนหนังสือมอบฉันทะขณะที่หนังสือนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ขาดรายได้ไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยตกลงกันว่า สลากกินแบ่งที่จำเลยเป็นตัวแทนอยู่50 เล่ม จำเลยให้โจทก์รับไปจำหน่ายแทนโดยให้โจทก์จ่ายค่าส่วนลดให้จำเลยเล่มละ 8 บาท และจำเลยมอบฉันทะให้โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งดังกล่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมาจำเลยเพิกถอนหนังสือมอบฉันทะดังกล่าวทำให้โจทก์ขาดรายได้ 4,500 บาท และเสียหาย 2,000 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า หนังสือมอบฉันทะตามฟ้องเป็นหลักฐานผูกพันระหว่างจำเลยกับสำนักงานสลากกินแบ่ง หาใช่หลักฐานผูกพันจำเลยให้ต้องมอบฉันทะให้โจทก์เป็นผู้รับสลากส่วนลดขอบตนเสมอไปไม่ จำเลยในฐานะตัวการชอบที่จะบอกเลิกเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อวินิจฉัยมีตามฎีกาของโจทก์ว่า มีสัญญาต่างตอบแทนซึ่งโจทก์จะฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าระหว่างโจทก์กับจำเลย มีข้อตกลงกันในอันที่จะให้โจทก์รับสลากกินแบ่งมาจำหน่ายเป็นเวลา 1 ปีจริงหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยให้การรับว่าจำเลยเกรงว่าจะจำหน่ายสลากกินแบ่งไม่หมดตามงวด จึงแบ่งให้โจทก์นำสลากกินแบ่งส่วนของจำเลยไป ช่วยขายให้โดยแบ่งผลประโยชน์ให้แก่จำเลยเล่มละ6 บาท จำเลยได้เล่มละ 8 บาท โจทก์ยอมรับตามที่จำเลยเสนอ จำเลยจึงได้ทำหนังสือมอบฉันทะซื้อสลากให้โจทก์เป็นผู้ซื้อ (ตามใบมอบฉันทะมีระยะเวลา1 ปี) ที่จำเลยให้การและนำสืบว่าจำเลยไม่เคยรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนในการที่มอบฉันทะให้โจทก์ไปรับสลากกินแบ่งส่วนของจำเลยเพิ่มขึ้น นอกจากรับเงินส่วนลดที่โจทก์ไปรับจากสำนักงานสลากกินแบ่งแทนจำเลยมามอบให้จำเลยหนังสือมอบฉันทะของจำเลยจึงมิใช่หลักฐานอันจะผูกพันว่าจำเลยจะต้องมอบฉันทะให้โจทก์เป็นผู้ไปรับสลากส่วนของจำเลยทุกคราวเสมอไป จำเลยในฐานะตัวการชอบที่จะบอกกล่าวเลิกหรือถอนหนังสือมอบฉันทะเมื่อใดก็ได้นั้น เห็นว่าหากพิจารณาโดยผิวเผินก็น่าจะเป็นดังเช่นที่จำเลยกล่าวอ้าง เพราะจำเลยมิได้รับประโยชน์งอกเงยจากการที่ได้มอบฉันทะให้โจทก์ไปรับสลากส่วนของจำเลยแทนจำเลยแต่ประการใด แต่ถ้าได้พิจารณาโดยตระหนักแล้วจะเห็นได้ว่า กรณีหาได้เป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่กล่าวคือ ในกรณีที่จำเลยไปซื้อสลากจากกองสลากด้วยตนเอง จำเลยจะต้องลงทุนใช้เงินส่วนตัวของจำเลยซื้อสลากจากสำนักงานสลาก เมื่อจำเลยมอบให้ตัวแทนช่วงไปจำหน่าย จำเลยจะได้ส่วนลดเล่มละ 8 บาท ตัวแทนช่วงได้ส่วนลดเล่มละ 6 บาท หากสลากจำหน่ายไม่หมดจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในกรณีของโจทก์นี้โจทก์เป็นผู้ลงทุนซื้อสลากและต้องจำหน่ายสลากเอง มิได้นำมามอบให้จำเลย หากสลากจำหน่ายไม่หมดโจทก์ต้องขาดทุน จำเลยคงได้รับส่วนลดเล่มละ 8 บาทเท่าเดิม โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงและเสี่ยงต่อการขาดทุนแต่อย่างใด ฉะนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช้เป็นเรื่องตัวการและตัวแทนตามธรรมดาดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา นอกจากโจทก์ยินยอมด้วย หรือโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ การที่จำเลยถอนหนังสือมอบฉันทะขณะที่หนังสือนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อจำเลยขอถอนหนังสือมอบฉันทะโจทก์ขาดรายได้ไป 15 งวด คิดเป็นเงินงวดละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 4,500 บาท ส่วนค่าเสียหายอันเกี่ยวกับโจทก์ขาดความไว้วางใจ ไม่มีสลากกินแบ่งขายให้ลูกค้าซึ่งโจทก์ ขอคิดมาเป็นเงิน2,000 บาทนั้น โจทก์นำสืบไม่ได้ความชัด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้เพียง 4,500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับเป็นให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 4,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2516 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์

Share