คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ร่วมได้อุทธรณ์และฎีกาต่อมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14) อธิบายคำว่า “โจทก์” ไว้ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน ดังนั้น โจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต่างจึงมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งงดไม่สืบต่อไปให้เสร็จ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธินำสืบต่อไปได้ ศาลอุทธรณ์จึงฟังพยานที่นำสืบต่อไปนั้นวินิจฉัยคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนี ได้ใช้อำนาจด้วยกำลังกายฉุดคร่าประทุษร้ายผู้เสียหายให้ไปกับจำเลย ผู้เสียหายขัดขวาง จำเลยจึงใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนซึ่งมีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยิงทำร้ายผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 284, 288, 32 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 และริบของกลาง

จำเลยที่ 1 รับสารภาพในข้อมีอาวุธปืนตามฟ้องไม่รับอนุญาตส่วนข้อหาฉุดคร่า ในชั้นแรกต่อสู้ว่า ผู้เสียหายนัดแนะให้พาหนี บิดาผู้เสียหายตามไปทันทำท่าจะยิงจำเลยจึงยกปืนขู่ ผู้เสียหายเข้าแย่งปืนจากจำเลย ปืนจึงลั่นถูกผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ถอนคำให้การและรับสารภาพตามฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่

นายเหิม ทองแจ้ง บิดาผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมิได้สั่งประการใด

เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 3 ปาก ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์พอวินิจฉัยคดีได้ จึงให้งดสืบพยานที่คู่ความขอสืบแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สมคบทำความผิดกับจำเลยที่ 1 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 284, 288, 32 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วย มาตรา 80อันเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตวางโทษสองในสามส่วนแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 สิบหกปี จำเลยที่ 1 รับสารภาพโดยดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 แปดปี ของกลางริบ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

นายเหิม ทองแจ้ง โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่านายเหิม ทองแจ้ง ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งประการใด นายเหิม ทองแจ้ง จึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์ของนายเหิม ทองแจ้ง

นายเหิม ทองแจ้ง โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ตามพฤติการณ์ที่ดำเนินมานายเหิม ทองแจ้ง มีฐานะเป็นคู่ความในคดีนี้แล้ว นายเหิม ทองแจ้งโจทก์ร่วมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของคู่ความนั้นคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังไม่พอวินิจฉัยชี้ขาดได้ ควรให้สืบพยานโจทก์ที่ขอสืบต่อไปแล้วสืบพยานจำเลยที่ 2 ตามข้อต่อสู้ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานที่โจทก์ขอสืบ และสืบพยานจำเลยที่ 2 ด้วย แล้วส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นสืบพยานตามคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ร่วมกันฉุดคร่าพานางสาวเรียมผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร แต่ไม่สำเร็จเพราะนางสาวเรียมดิ้นสะบัดหลุดหนีไปได้เสียก่อน จึงเป็นความผิดเพียงฐานพยายาม ส่วนการใช้อาวุธปืนยิงนั้น เป็นการกระทำเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 หาได้ร่วมหรือบอกให้จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงนางสาวเรียมผู้เสียหายไม่ พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้นี้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า 1. คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 พนักงานอัยการโจทก์ก็พอใจไม่อุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 2 จึงยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นายเหิมโจทก์ร่วมฝ่ายเดียวอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อไปนั้น จำเลยที่ 2 เห็นว่าพนักงานอัยการโจทก์ทำการสืบพยานต่อไปอีกและศาลอุทธรณ์ฟังคำพยานที่พนักงานอัยการโจทก์สืบนั้นลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ 2. นางสาวเรียมผู้เสียหายกับเด็กหญิงจิตรเบิกความแตกต่างกันในข้อสำคัญ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่นายเหิมทองแจ้ง ซึ่งศาลฎีกาได้ชี้ขาดแล้วว่ามีฐานะเป็นโจทก์ร่วม ได้อุทธรณ์และฎีกาต่อมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(14)อธิบายคำว่า “โจทก์” ไว้ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน ดังนั้น นายเหิมโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต่างจึงมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งงดไม่สืบต่อไปให้เสร็จพนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธินำสืบต่อไปได้ ศาลอุทธรณ์จึงฟังพยานที่นำสืบต่อไปนั้นวินิจฉัยคดีได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเห็นว่า พฤติการณ์และคำยืนยันของผู้เสียหายมีน้ำหนักให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมไปฉุดคร่านางสาวเรียมผู้เสียหายจริงคำเบิกความของผู้เสียหายและเด็กหญิงจิตรแตกต่างกันเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของจำเลยนั้น เป็นรายละเอียดเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน จึงไม่ทันเตรียมตัว ประกอบด้วยความตกใจกลัว จึงอาจผิดกันไปได้ จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญถึงกับไม่เชื่อคำยืนยันของผู้เสียหายและพยาน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ 2

Share