คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14640/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุม ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง แต่ระหว่างการฟื้นฟูจำเลยตั้งครรภ์และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอีก คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงปรับแผนการฟื้นฟูและขยายระยะเวลาออกไปอีก แต่จำเลยก็ยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป จึงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว และเป็นกรณีที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 และนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 699/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ยกคำขอให้นับโทษต่อ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2553 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2553 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งที่ 620/2553 ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมคุมประพฤติเป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 10 ครั้ง จนครบ 6 เดือน ยินยอมให้มีการตรวจสอบการใช้สารเสพติดให้โทษในปัสสาวะ ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 20 ชั่วโมง และให้ดำเนินการอื่นใดตามเหมาะสมเพื่อให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยห่างไกลยาเสพติด ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งที่ 926/2553 ให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูและปรับแผนการฟื้นฟูออกไปอีก 60 วัน เนื่องจากจำเลยหวนกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอีกจนเป็นเหตุให้ถูกจับดำเนินคดีฐานร่วมกันเสพและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งที่ 959/2553 ว่า ปรากฏว่าระหว่างการฟื้นฟูจำเลยตั้งครรภ์ประมาณ 7 เดือน จึงให้ปรับแผนการฟื้นฟูจำเลย โดยให้เข้ารับการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมสำนักงานคุมประพฤติ และกำหนดเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้เก็บปัสสาวะตรวจหาสารเสพติดให้โทษ ตลอดจนให้ละเว้นการคบหาสมาคมกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ และดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสมเพื่อให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยห่างไกลยาเสพติดให้โทษ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งที่ 1231/2554 ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการ มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอยู่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับการฟื้นฟู อีกทั้งบุคคลในครอบครัวไม่มีผู้ใดสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แสดงให้เห็นว่าไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการบำบัดฟื้นฟู จึงมีคำวินิจฉัยว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ ให้ส่งคดีคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีเอกสารท้ายฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว เพียงแต่ระหว่างการฟื้นฟูจำเลยตั้งครรภ์และยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอีก คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงปรับแผนการฟื้นฟูและให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก แต่จำเลยก็ยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงทำนองว่า จำเลยยังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามนัยมาตรา 25 จึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง เมื่อผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 3 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เพื่อมิให้คดีนี้ต้องล่าช้าเกินสมควร หากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปเลยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์เพื่อขอให้รอการลงโทษจำคุกต่อไป เห็นว่า ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจำเลยยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เชื่อว่าจำเลยไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดได้ การรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยจึงไม่น่าจะเป็นผลดีแก่สังคมและตัวจำเลย ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share