คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของ ส.และส. บิดาได้รับรองแล้วถือว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ส.และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของส.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627,1629(1) โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกในทันทีที่ ส. ถึงแก่ความตายตามมาตรา1599 วรรคแรก หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ที่เป็นมรดกแก่โจทก์ได้ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความโดยอ้างเพียงว่า จำเลยได้แสดงเหตุผลแจ้งชัดโดยละเอียดไว้ในอุทธรณ์ข้อ 2.4 แล้ว จึงถือเอาข้อความในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วย ฎีกาของจำเลยมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วของนายเสน ผู้ตายกับนางสอน จำเลยเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้นมีทรัพย์มีมรดกคือที่ดิน 2 แปลงและบ้าน1 หลัง โจทก์แจ้งจำเลยให้แบ่งมรดกแก่โจทก์แล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมทั้งหมด
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเสนจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งมรดก ที่ดินและบ้านพิพาทไม่ใช่ทรัพย์ของนายเสนแต่เป็นของนายอ่อน สามีจำเลยให้นายเสนแจ้งขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้แทน เหตุที่จำเลยขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสน ก็เพื่อความสะดวกในการขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของที่ดินพิพาทคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่4416 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 1830 ให้แก่โจทก์ และบ้านไม้ที่ตั้งอยู่บนที่ดินเลขที่ 4416 อย่างละครึ่งหนึ่ง ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมแบ่งแยกทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ก่อนที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยถึงแก่กรรม นายชิดบุตรจำเลยขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายเสน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเสนและนายเสนบิดาได้รับรองแล้วจำเลยฎีกาว่า แม้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีคำสั่งศาลชี้ขาดว่าโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเสนแล้วโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าจำเลยกล่าวอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ยังมิได้เป็นทายาทเพราะไม่มีคำสั่งศาลให้เป็นเช่นนั้น จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์มิใช่บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเสนและนายเสนบิดาได้รับรองแล้ว ถือว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเสนและเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนายเสนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627, 1629(1) โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกในทันทีที่นายเสนถึงแก่ความตายตามมาตรา 1599 วรรคแรกหาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ที่เป็นมรดกแก่โจทก์ได้ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยอ้างมาในฎีกาเพียงว่า จำเลยได้แสดงเหตุผลแจ้งชัดโดยละเอียดไว้ในอุทธรณ์ข้อ 2.4 แล้ว จึงถือเอาข้อความในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฎีกานี้ด้วย เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share