แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่า เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค.๑ ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนด แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ เนื่องจากเป็นที่สาธารณประโยชน์ (สนามบินบึงนาราง) จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนด เมื่ออุทธรณ์คำสั่ง ก็ถูกยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดกับให้ออกโฉนด เจ้าพนักงานที่ดินให้การว่า ที่ดินที่ยื่นขอรังวัดออกโฉนดนายอำเภอบึงนารางคัดค้านการรังวัด โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๗/๒๕๕๐ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ แม้จะได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ก็ไม่เกิดสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเอกชนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีที่ขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาท อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๗/๒๕๕๙
วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิจิตร
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘ นางโปรย สุขอยู่ ที่ ๑ นางวรรณกมล ณรงค์ฤทธิ์ ที่ ๒ นางสาวคะนึง เจริญสิงห์ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร สาขาโพทะเล ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๕/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เลขที่ ๕๙๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลบึงนาราง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร โดยครอบครองต่อเนื่องจากบรรพบุรุษมากว่า ๕๐ ปี ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ แจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งสามว่า ที่ดินที่ทำการรังวัดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินให้ได้ เนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๗/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ (สนามบินบึงนาราง) จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกอุทธรณ์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน กับให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ยื่นขอรังวัดออกโฉนด นายอำเภอบึงนารางคัดค้านการรังวัด โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๗/๒๕๕๐ ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ แม้จะได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ก็ไม่เกิดสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมที่ดิน และมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับมีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเป็นที่สาธารณประโยชน์ (สนามบินบึงนาราง) จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนด และเมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีหนังสืออุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับยกอุทธรณ์ จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และประเด็นหลักแห่งคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่าชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ กรณีจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้ว เห็นว่า ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ศาลต้องพิจารณาในประเด็นเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ค.๑) เลขที่ ๕๙๕ ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินที่ทำการรังวัดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินให้ได้ เนื่องจากเป็นที่สาธารณประโยชน์ (สนามบินบึงนาราง) จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนด ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนด กับให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ยื่นขอรังวัดออกโฉนด นายอำเภอบึงนารางคัดค้านการรังวัด โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๗/๒๕๕๐ ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ แม้จะได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ก็ไม่เกิดสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน กับให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง กรณีจึงเป็นคดีที่ขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางโปรย สุขอยู่ ที่ ๑ นางวรรณกมล ณรงค์ฤทธิ์ ที่ ๒ นางสาวคะนึง เจริญสิงห์ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร สาขาโพทะเล ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ