แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการ ติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม ตามมาตรา 25 หากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา ที่ 1358/2555 เอกสารท้ายฟ้องว่า คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา เห็นว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เคยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่จับกุมในความผิดฐานเสพและร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลามีคำวินิจฉัยที่ 546/2552 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ให้ผู้เข้ารับตรวจพิสูจน์เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบจิตสังคมบำบัดที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นเวลา 4 เดือน ให้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรเป็นเวลา 6 เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ยินยอมให้เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด และห้ามคบหาสมาคมกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งในระหว่างฟื้นฟู ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ขาดรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้พักอาศัยตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำสั่งที่ 73/2555 ลงวันที่ 5 มกราคม 2535 ให้ขยายระยะเวลาต่อไปอีกเป็นเวลา 4 เดือน แต่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ขาดความรับผิดชอบ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการบำบัด คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา จึงมีคำสั่งที่ 1232/2555 ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 พิจารณาผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เห็นสมควรแจ้งให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป แม้คำสั่งที่ 1232/2555 จะเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลาก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 32 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนี้ เมื่อได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่มารายงานตัวเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ 546/2552 และคำสั่งที่ 73/2555 ของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ 1232/2555 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ระหว่างดำเนินคดีอื่นที่มีโทษจำคุกตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 57, 76, 92, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1940/2555 ของศาลชั้นต้น และริบกัญชา เขียงไม้ มีดใช้หั่นกัญชา และบ้องกัญชาของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 57, 76 วรรคหนึ่ง, 92 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานเสพกัญชา จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ยกคำขอให้นับโทษต่อ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม ตามมาตรา 25 หากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา ที่ 1358/2555 เอกสารท้ายฟ้องว่า คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา เห็นว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เคยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่จับกุมในความผิดฐานเสพและร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลามีคำวินิจฉัยที่ 546/2552 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ให้ผู้เข้ารับตรวจพิสูจน์เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบจิตสังคมบำบัดที่โรงพยาบาลของรัฐ เป็นเวลา 4 เดือน ให้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร เป็นเวลา 6 เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ยินยอมให้เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด และห้ามคบหาสมาคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งในระหว่างฟื้นฟู ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ขาดรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้พักอาศัยตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำสั่งที่ 73/2555 ลงวันที่ 5 มกราคม 2535 ให้ขยายระยะเวลาต่อไปอีกเป็นเวลา 4 เดือน แต่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ขาดความรับผิดชอบ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการบำบัด คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลา จึงมีคำสั่งที่ 1232/2555 ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 พิจารณาผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เห็นสมควรแจ้งให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป แม้คำสั่งที่ 1232/2555 จะเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสงขลาก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 32 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนี้ เมื่อได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่มารายงานตัวเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ 546/2552 และคำสั่งที่ 73/2555 ของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ 1232/2555 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ระหว่างดำเนินคดีอื่นที่มีโทษจำคุกตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน