คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดจนได้กรรมสิทธิ์แล้วนั้น เมื่อยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิ์โดยสุจริตแล้วหาได้ไม่
เจ้าของโฉนดจดทะเบียนขายฝากที่ดินแก่บุคคลภายนอกจนหลุดเป็นสิทธิ ผู้ครอบครองปรปักษ์มิได้ต่อสู้ว่าผู้รับซื้อฝากไม่สุจริต ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า ผู้รับซื้อฝากนั้นเป็นผู้สุจริต
ผู้รับโอนที่ดินมีโฉนดโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ซึ่งมีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองปรปักษ์นั้น ถ้ามีผู้รับโอนทางทะเบียนต่อจากนั้นมาอีกภายใน 10 ปีนับแต่วันโอนครั้งแรก ผู้รับโอนต่อ ๆ มาจะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้รับโอนคนใหม่ได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่มีผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรก แม้ผู้ครอบครองปรปักษ์จะยังคงครอบครองที่ดินตลอดมา เมื่อการครอบครองในช่วงหลังยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์กับเจ้าของใหม่จนครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1015/2485)
หมายเหตุ คำพิพากษาฎีกาที่ 1087 – 1090/2501 ก็เดินตามแนวนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ ๓๘๓๐ เป็นของนายสุ่ยนางตาดสามีภริยา คนทั้งสองตาย นายจันและนายมั้วบุตรรับมรดกทางทะเบียนและปกครองมา ต่อมานายมั้วจดทะเบียนโอนส่วนของตนให้นายจันมีกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว นายจันขายฝากไว้กับนายวัชรินทร์ จันทร์สุวรรณ และเด็กหญิงรุ่งเรือง จันทร์สุวรรณ แล้วหลุดเป็นสิทธิ โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายวัชรินทร์และเด็กหญิงรุ่งเรืองโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียน โจทก์จะเข้าทำประโยชน์ จำเลยกลับขัดขวางอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย ความจริงจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ อาศัยนายสุ่มนางตาดและนายจัน ส่วนจำเลยที่ ๗ – ๘ เพิ่งเข้าอยู่เมื่อ ๑ – ๒ ปีมานี้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ได้ครอบครองที่พิพาทมาโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ซื้อโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๗ – ๘ อยู่โดยอาศัยสิทธิจำเลยที่ ๑ และ ๕
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทมาด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ซื้อโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้ครอบครองที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของ แต่อยู่ในฐานะอาศัย ไม่ได้กรรมสิทธิ์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่ พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ห้ามเกี่ยวข้อง และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายปีละ ๑,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยต่างได้ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทแยกเป็นส่วน ๆ ตามที่ตนครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตกเป็นของจำเลยตามส่วนที่แต่ละคนครอบครองมาตั้งแต่ก่อนนายจันเอาที่พิพาทไปขายฝาก
มีปัญหาว่า โจทก์ผู้รับโอนที่พิพาทโดยทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนจะมีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้ครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ได้หรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ได้รับโอนโดยไม่สุจริต สิทธิทางทะเบียนของโจทก์ใช้ยันจำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
คดีฟังได้ว่า นายจันผู้รับมรดกได้โอนขายฝากที่พิพาทโดยทางทะเบียนให้กับนายวัชรินทร์และบุตรมาก่อน เมื่อพ้นกำหนดไถ่คืนแล้ว นายวัชรินทร์และบุตรจึงโอนขายที่พิพาทโดยทางทะเบียนให้โจทก์อีกต่อหนึ่ง แล้วโจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ตามคำให้การของจำเลยมิได้ต่อสู้ว่านายวัชรินทร์และบุตรซึ่งเป็นผู้ซื้อคนต้นได้รู้เรื่องอยู่แล้วหรือซื้อโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งการนำสืบก็ไม่ปรากฏ ซึ่งตามกฎหมายมีข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่านายวัชรินทร์และบุตรเป็นผู้สุจริต เพราะฉะนั้นจึงต้องถือว่านายวัชรินทร์และบุตรเป็นผู้สุจริต อันจำเลยจะยกเอากรรมสิทธิ์ที่ได้มาอยู่ก่อนโดยยังไม่จดทะเบียนขึ้นใช้ยันนายวัชรินทร์และบุตรไม่ได้
มีปัญหาต่อไปว่า หากฟังได้ดังจำเลยอ้างว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจะยกสิทธิของจำเลยขึ้นใช้ยันโดยเฉพาะกับโจทก์ได้หรือไม่
ในกรณีดังนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๔๘๕ ว่า ผู้ที่ได้สิทธิในที่ดินมาโดยยังไม่ได้จดทะเบียน ที่ดินนั้นได้มีการโอนทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนไปยังบุคคลที่สามผู้รับโอนไว้โดยสุจริต และบุคคลที่สามโอนต่อไปยังผู้รับโอนคนใหม่อีกช่วงหนึ่ง ผู้ได้สิทธิโดยไม่ได้จดทะเบียนจะยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้รับโอนคนใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าผู้รับโอนคนใหม่จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่สุจริตอย่างใดก็ตาม โดยสิทธิที่ได้ไว้นั้นได้ขาดตอนไปหมดแล้วตั้งแต่มีผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรก ดังนั้น ในคดีนี้จำเลยจึงยกเอากรรมสิทธิ์ที่ไม่ได้จดทะเบียนของจำเลยมายันโจทก์ผู้รับโอนช่วงจากนายวัชรินทร์และบุตรผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นไม่ได้ ทั้งนับแต่วันที่นายวัชรินทร์กับบุตรรับโอนมาจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ถึง ๑๐ ปี จะถือว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์กับเจ้าของใหม่ในชั้นช่วงหลังจนครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วก็ไม่ได้ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ประการใด โจทก์ย่อมมีสิทธิ์ฟ้องขับไล่จำเลยได้
พิพากษายืนในผล.

Share