คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข. เจ้าของรถนำรถบรรทุกมาร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 1 โดยพ่นตัวหนังสือชื่อย่อจำเลยที่ 1 ไว้ข้างรถบรรทุก และในขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 ซึ่ง ข. จัดหาไปขับรถบรรทุกสินค้าเป็นผู้ขับเพื่อบริการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ใช้บริการโดยการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ให้บริการแก่ลูกค้าคนใดหรือจะไปในที่แห่งใดย่อมอยู่ในการควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่ง ข. ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จำเลยที่ 1 สามารถเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2 ไม่ให้ขับรถบรรทุกต่อไปได้ หากเห็นไม่สมควรที่จะให้ทำหน้าที่ต่อไป จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจสั่งการบังคับบัญชาจำเลยที่ 2และมีอำนาจหักเอาเงินผลประโยชน์ส่วนแบ่งของ ข. มาจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมีผลประโยชน์ร่วมกับ ข. โดยได้รับส่วนแบ่งจากการให้บริการขนสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นราย ๆ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการที่จำเลยที่ 2ได้กระทำละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 237,950 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน150,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 22 กันยายน 2538 ตามที่โจทก์ขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง คงฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-3324 กรุงเทพมหานคร แต่มีนางสาวขนิษฐา เหล่าชัยยนต์ เป็นเจ้าของรถ ตามรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.1 นางสาวขนิษฐา ได้นำรถบรรทุกคันดังกล่าวมาร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ตามสัญญาร่วมกิจการขนส่งเอกสารหมาย ล.2 โดยพ่นตัวหนังสือคำว่าร.ส.พ.ไว้ข้างรถบรรทุกคันดังกล่าว เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกสินค้าเพื่อบริการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ใช้บริการตามสัญญาร่วมกิจการขนส่งซึ่งเป็นสัญญาระหว่างนางสาวขนิษฐากับจำเลยที่ 1ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง อันเป็นกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายจึงจะประกอบการขนส่งได้ นางสาวขนิษฐาไม่อาจเข้าไปดำเนินการหรือเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ การที่นางสาวขนิษฐานำรถบรรทุกไปร่วมในกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 1 โดยจะต้องมีคนขับรถไปกับรถบรรทุกด้วย ส่วนในการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้บริการแก่ลูกค้าคนใดหรือจะไปในที่แห่งใดย่อมอยู่ในการควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งนางสาวขนิษฐาไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้ทั้งยังปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาร่วมกิจการขนส่งเอกสารหมาย ล.2 อีกว่า จำเลยที่ 1 สามารถเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2 ไม่ให้ขับรถบรรทุกต่อไปได้ หากเห็นไม่สมควรที่จะทำหน้าที่ต่อไป จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจในการสั่งการบังคับบัญชาจำเลยที่ 2 และมีอำนาจที่จะหักเอาเงินผลประโยชน์ส่วนแบ่งของนางสาวขนิษฐามาจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ได้อีกด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 1ยังมีผลประโยชน์ร่วมกับนางสาวขนิษฐาโดยได้รับส่วนแบ่งจากการให้บริการขนสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นราย ๆ กรณีถือได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ในการที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share