คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7560/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งหกจะนำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อส่งไม่ได้ โจทก์ทั้งหกก็ยังมีหน้าที่ต้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้ การที่โจทก์ทั้งหกเพิกเฉยไม่แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากห้องไม่มีเลขที่ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 166 เลขที่ดิน 121 ตำบลบางขุนพรม อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร ด้านทิศใต้และห้ามยุ่งเกี่ยวกับห้องและที่ดินดังกล่าวอีก ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจำนวน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 6,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากห้องไม่มีเลขที่ดังกล่าวและส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ทั้งหก ให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตของโจทก์ และลงนามรับรองแนวเขตที่โจทก์นำรังวัดสอบเขต หากไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่ได้เป็นเจ้าของห้องไม่มีเลขที่ตามฟ้อง ห้องดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 166 ของโจทก์แต่อย่างใด หากแต่ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 164 ตำบลบางขุนพรม อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ซื้อมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมได้ครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการครอบครองห้องดังกล่าว และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จำเลยทั้งสองก็ได้เข้าครอบครองห้องดังกล่าวโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากผู้ครอบครองเดิมติดต่อกันจนปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว และห้องดังกล่าวอาจนำออกให้เช่าได้ค่าเช่าเพียงเดือนละ 3,000 บาท เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกยื่นฎีกาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2543 ภายในกำหนดที่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา โดยนายสนิทผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ทั้งหกเป็นผู้ยื่นฎีกาและลงลายมือชื่อทราบนัดให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ว่ารับฎีกา ให้ผู้ฎีกานำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์ทั้งหกทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ต่อมาวันที่27 มิถุนายน 2543 นางวราภรณ์แทนหัวหน้าฝ่ายเดินหมายและประกาศ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เสนอรายงานของพนักงานเดินหมายต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 26 เดือนเดียวกัน พนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว แต่ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานของพนักงานเดินหมายดังกล่าวในวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ว่ารอฟังโจทก์ทั้งหกแถลง หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกได้ยื่นคำแถลงใด ๆ ต่อศาลชั้นต้น จนวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 นายประวัติหัวหน้างานรับฟ้องอุทธรณ์ฎีกา เสนอรายงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ให้รอฟังโจทก์ทั้งหกแถลง ระยะเวลาได้ผ่านมานานพอสมควรแล้ว โจทก์ทั้งหกยังไม่แถลงเข้ามา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนไปศาลฎีกาในวันเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์ทั้งหกจะนำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อส่งไม่ได้ โจทก์ทั้งหกก็ยังมีหน้าที่ต้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้ การที่โจทก์ทั้งหกเพิกเฉยไม่แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นนี้ จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share