คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ความผิดตามมาตรา 354 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิพากษาคดี โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเบียดบังทรัพย์มรดกไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353 และ 354 ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงต่อกัน ซึ่งหากศาลพิจารณาได้ข้อเท็จจริงตามฟ้อง ศาลต้องลงโทษตามมาตรา 354 ซึ่งมีอัตราโทษเกินอำนาจที่ศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาได้ย่อมทำให้ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีตามมาตรา 352 และ 353 ไปด้วย ดังนั้น การที่ศาลแขวงรับคดีตามมาตรา 354 ไว้พิจารณามาแต่ต้นโดยที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาย่อมทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่พิจารณามาแล้วเป็นการพิจารณาคดีโดยมิชอบทั้งหมดศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีตามมาตรา 352,353 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวม 2 กระทง รวมเป็นจำคุกจำเลย 1 มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 86 เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์และกระบวนพิจารณาหลังจากนั้น แต่ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงมีอำนาจจะพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 15 ประกอบด้วยมาตรา 22(5) กำหนดหลักเกณฑ์ว่าศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองรักษาทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยธรรมทุกคน จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยร่วมกับจำเลยที่ 2 เบียดบังเอาทรัพย์มรดกไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 353 และ 354 ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 352, 353 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้แต่ความผิดตามมาตรา 354 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในความผิดตามมาตรา 352, 353 และ 354 เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงต่อกัน การที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ซึ่งหากศาลพิจารณาได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้ว ศาลต้องลงโทษตามมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีอัตราโทษเกินอำนาจที่ศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาได้ย่อมทำให้ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 352และ353 ไปด้วย การที่ศาลแขวงรับคดีตามมาตรา 354 ไว้พิจารณามาแต่ต้น โดยที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาย่อมทำให้กระบวนพิจารณาคดีที่พิจารณามาแล้วเป็นการพิจารณาคดีโดยมิชอบทั้งหมด ศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีตามมาตรา 352,353 หาได้ไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแม้ในฟ้องจะระบุ มาตรา 354 มาด้วย ก็ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามมาตราดังกล่าว เห็นว่าตามคำฟ้องได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกและการที่อ้างมาตรา 354 มาท้ายฟ้อง ก็ย่อมแสดงถึงความประสงค์ว่ามีเจตนาจะให้ศาลลงโทษตามมาตราดังกล่าว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share