คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศ.เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ ทั้งเป็นผู้บังคับบัญชา โดยตรงของโจทก์ เมื่อโจทก์ประพฤติตนบกพร่อง โดยมาทำงานสายเป็นประจำอันอาจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่จำเลย ศ.ย่อมมีอำนาจที่จะว่ากล่าวตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือได้ และในหนังสือตักเตือนก็ไม่จำต้องให้กรรมการจำเลยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยเพราะมิใช่เป็นการกระทำนิติกรรมแทนจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 49,950 บาท และค่าชดเชยจำนวน 243,000 บาท กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 243,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ก่อนจำเลยให้โจทก์ออกจากงานโจทก์มาทำงานสาย นายศิวะ งานทวี กรรมการผู้จัดการของจำเลยและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้มีหนังสือตักเตือนโจทก์ถึง 2 ครั้ง โจทก์ก็ยังคงมาทำงานสายเช่นเดิม จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตนฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนแล้วจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในอันที่จะต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่นายศิวะ งานทวี ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้ออกหนังสือตักเตือนโจทก์ ถือไม่ได้ว่าหนังสือตักเตือนดังกล่าวเป็นหนังสือตักเตือนของจำเลย เพราะในหนังสือตักเตือนไม่มีกรรมการจำเลยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยนั้น เห็นว่านายศิวะเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ เมื่อโจทก์ประพฤติตนบกพร่องโดยมาทำงานสายเป็นประจำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย นายศิวะย่อมมีอำนาจที่จะว่ากล่าวตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือได้ และในหนังสือตักเตือนก็ไม่จำต้องให้กรรมการจำเลยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยเพราะมิใช่เป็นการกระทำนิติกรรมแทนจำเลย
พิพากษายืน

Share