คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6167/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่กำหนดเวลาให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลมิใช่เป็นการขยายเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23อันจะทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและจะต้องทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้นศาลมีอำนาจโดยทั่วไปที่จะกำหนดระยะเวลาได้ การยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมิได้มีผลทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นหรือสิทธิในการวางเงินค่าธรรมเนียมต้องสะดุดหยุดอยู่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นไม่ หากศาลฎีกามีคำสั่งเป็นอย่างอื่นย่อมลบล้างคำสั่งของศาลชั้นต้นไปในตัว ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องรอฟังคำสั่งของศาลฎีกาก่อนมิฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นก็จะไร้ผล การที่จำเลยจะรอคำสั่งของศาลฎีกาโดยที่มิได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นต้นก่อนจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 289/2532 โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนดังกล่าวว่า จำเลยที่ 9แต่ในชั้นนี้ คงมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 8 คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นเงิน 10,908,933.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,908,933.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ยื่นฎีกาโดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7และที่ 8 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาอย่างคนอนาถาหากจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกามาวางศาลภายใน 20 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามาวางศาลภายในกำหนดและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 แล้วส่วนจำเลยที่ 8 ไม่ได้วางเงินภายในกำหนด แต่ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 8 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 8 ศาลฎีกามีคำสั่งว่า จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งมานั้นไม่ชอบให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 8จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 8 ไม่ทราบวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาใหม่และได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 8 ฟังแล้ว จำเลยที่ 8 ยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 8 ให้คืนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 8 และนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 8 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 8 ให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องขอให้แยกสำนวนเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 8 ส่งศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาและขอให้งดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 8 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นฎีกาและมีคำสั่งกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 8 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามาชำระภายในกำหนด 20 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง (วันที่ 18 กรกฎาคม 2539) คำสั่งดังกล่าวเป็นการกำหนดเวลาโดยอาศัยอำนาจของศาลที่มีอยู่ทั่วไปในการที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะหรือห้ามไว้ ไปในทางที่เห็นว่ายุติธรรมและสมควร และการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว มิใช่เป็นการขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 อันจะทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและจะต้องทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้น ดังเช่นในมาตรา 23นั้นเองก็ได้กล่าวถึงระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ แสดงว่าศาลกำหนดระยะเวลาได้ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ 8 ไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 8ได้ แม้ว่าจำเลยที่ 8 จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 8 ฎีกาอย่างคนอนาถาได้ แต่การยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมิได้ทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นต้องสะดุดหยุดอยู่หรือทำให้สิทธิในการวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาต้องสะดุดหยุดอยู่ จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นดังที่จำเลยที่ 8 ฎีกา เพราะการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลชั้นต้นกับจำเลยที่ 8 หากศาลฎีกามีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำสั่งศาลฎีกาย่อมลบล้างคำสั่งของศาลชั้นต้นไปในตัว ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องรอฟังคำสั่งของศาลฎีกาก่อน มิฉะนั้นคำสั่งศาลชั้นต้นก็จะไร้ผล จำเลยที่ 8 จะรอคำสั่งของศาลฎีกาโดยที่มิได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นต้นก่อนจึงไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 8ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและปรากฏว่าอุทธรณ์ดังกล่าวยื่นเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 156 วรรคท้าย และศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 8 เสียแล้ว เท่ากับว่าจำเลยที่ 8 มิได้ยื่นอุทธรณ์มาแต่ต้นแม้จำเลยที่ 8 ไม่ทราบคำสั่งนั้น เนื่องจากได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นและมิได้รับหมายนัดจากศาลชั้นต้นให้มาฟังคำสั่งศาลฎีกา และจำเลยที่ 8ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 8 ฟังใหม่และศาลชั้นต้นอ่านใหม่วันที่ 13 กันยายน 2542 ก็ตาม จำเลยที่ 8ก็ต้องผูกพันตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น จึงเป็นกรณีที่ล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 8จะชำระค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 8 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share