คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องข้อ 1.6 เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน คนร้ายได้บังอาจลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป แต่ในคำฟ้องข้อ 2.3 เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรกลับบรรยายว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันรับของโจรทรัพย์ตามข้อ 1.6 ที่มีคนร้ายลักไป แต่ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจรได้ และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 213

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 26พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน ได้มีคนร้ายหลายคนร่วมกันเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายสมบัติ พงษ์พานิชผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคนร้ายได้ร่วมกันถอดบานเกร็ดกระจกหน้าต่าง และร่วมกันใช้มีดงัดลูกกรงเหล็กหน้าต่างดังกล่าวจนเปิดออก อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ และเข้าไปในบ้านทางช่องทางหน้าต่างดังกล่าวและร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริตรวม 11 ครั้ง คิดเป็นราคาทรัพย์สิน 330,600 บาท เหตุเกิดที่แขวงบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 ได้ในคดีอื่นต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยรถจักรยานจำนวน 2 คัน พระเครื่อง 1 กล่องและอีก 1 ถุง ซึ่งเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวข้างต้นกับตั๋วรับจำนำโรงรับจำนำพหลโยธินจำนวน 3 ใบ ตั๋วรับจำนำโรงรับจำนำลิบกี่จำนวน 1 ใบ ซึ่งเป็นตั๋วรับจำนำที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวไปจำนำไว้กับผู้มีชื่อและติดตามยึดของกลางรวมทั้งหมด 25 รายการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายร่วมกันลักเอาไปเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นคนร้ายลักทรัพย์รวม 11 กรรมต่างกันไปโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันรับของโจรโดยรับเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวรวม8 กรรมต่างกัน เหตุรับของโจรเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ และแขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ทั้ง 11 ครั้ง ของกลางที่เป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว ส่วนตั๋วจำนำเจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 83, 91, 92 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์ของผู้เสียหายรวม 17 รายการ ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคารวมเป็นเงิน176,780 บาท แก่ผู้เสียหาย และขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายด้วย

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร และจำเลยที่ 2รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้องจริง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกคนละ 3 ปี รวม 8 กระทง จำคุกคนละ 24 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 32 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปีให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับมาในความผิดฐานรับของโจรและผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืนแก่ผู้เสียหาย ความผิดฐานลักทรัพย์ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจร 7 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 21 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว เป็นจำคุก 28 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก14 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามคำฟ้องข้อ 2.3 และข้อ 2.8ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์การกระทำความผิดฐานรับของโจรสองข้อดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นก่อนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามข้อ 1.6 และ 1.9 ดังนั้น ทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 รับและครอบครองจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจรได้ เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 1.6เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์บรรยายว่า “เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน2542 เวลากลางวัน คนร้ายได้บังอาจลักกีต้าร์ ยี่ห้อกิ๊บสัน 1 ตัว ฯลฯและกีต้าร์ยี่ห้อไวโอชั่น 1 ตัว ของผู้เสียหายไป” แต่ในคำฟ้องข้อ 2.3ความผิดฐานรับของโจรกลับบรรยายว่า “เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันรับของโจรทรัพย์ตามข้อ 1.6 ดังกล่าวที่มีคนร้ายลักไป” ซึ่งความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะ ความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อจำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด เป็นต้น ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักกีต้าร์เกิดขึ้นแล้วเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225ประกอบด้วยมาตรา 213

สำหรับความผิดฐานรับของโจรตามข้อ 2.8 เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.9 ความผิดฐานลักทรัพย์ว่า มีคนร้ายลักรถจักรยานไปเมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน 2542 และคำฟ้องข้อ 2 และข้อ 2.8 ความผิดฐานรับของโจรโจทก์ได้แก้ฟ้องเป็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยรถจักรยานเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ความผิดฐานรับของโจรจึงเกิดขึ้นภายหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว คำฟ้องในส่วนนี้ไม่ขัดแย้งหรือเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นเพียงบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรรวม 7 กระทง เมื่อพิพากษาลงโทษและลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ตามที่ศาลล่างพิพากษามาแล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น10 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจร 6 กระทงเมื่อเพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุกจำเลยที่ 2ทั้งสิ้น 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share