คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาขายรถยนต์บรรทุกให้โจทก์ตามสัญญาข้อ9กำหนดไว้ว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ8ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2ของราคาสิ่งของที่ยับยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนฉะนั้นเมื่อจำเลยผู้ขายไม่ได้ส่งมอบสิ่งของที่ขายให้แก่โจทก์ผู้ซื้อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินประกันจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันซึ่งธนาคารได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ8โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลยตามสัญญาข้อ9ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 โจทก์ทำสัญญาซื้อรถยนต์บรรทุกชานต่ำ อีซูซุ แบบ 6×4 รุ่น เอส เจ แซด 551ของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน รวมราคา 6,590,000 บาท จากจำเลย โดยจำเลยจะต้องส่งมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 16 มีนาคม 2527 ต่อมาเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจำเลยไม่ได้ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 21 มีนาคม 2527 ถึงจำเลยบอกสงวนสิทธิเรียกร้องตามเงื่อนไขในสัญญา ต่อมาโจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่16 สิงหาคม 2527 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่งมอบทั้งหมด คือราคา 6,590,000 บาท ซึ่งคิดคำนวณแล้ว จำเลยจะต้องเสียค่าปรับตามสัญญาวันละ 13,180 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2527 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญา ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญารวม 158 วัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,082,440 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินค่าปรับ 2,082,440 บาท นับตั้งแต่วันที่6 กันยายน 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 245,613.80 บาท เมื่อรวมกับเงินค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 2,328,053.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,328,053.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,082,440 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาขายรถยนต์บรรทุก จำนวน 10 คันให้โจทก์โดยกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 16 มีนาคม 2527 ตามฟ้องจริงแต่จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีซูซุในประเทศญี่ปุ่นได้เลิกผลิตรถรุ่นที่กำหนดในสัญญาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2526 และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญาได้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาให้โจทก์ได้อันเป็นเหตุพ้นวิสัยหรือสุดวิสัยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2527ก่อนครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 จำเลยได้ทำสัญญาขายรถยนต์บรรทุกอีซูซุซานต่ำแบบ 6×4 รุ่น เอส เจ แซด 551 จำนวน10 คัน ให้แก่โจทก์ในราคา 6,590,000 บาท โดยมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 659,000 บาท ให้โจทก์ไว้เป็นประกันตามสัญญาต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 3 มกราคม 2527 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์รุ่นที่ระบุในสัญญานั้นทางบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเลิกผลิตแล้ว ขอเปลี่ยนแบบรถยนต์ที่จะส่งมอบตามสัญญาเป็นรถยนต์ฮีโน่ โจทก์ไม่ยินยอม ครั้นเมื่อครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาคือ วันที่ 16 มีนาคม 2527 จำเลยมิได้ส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 21 มีนาคม 2527 ถึงจำเลยขอสงวนสิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 8และ 9 ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2527 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ0.2 ของราคารถยนต์ 6,590,000 บาท นับถัดจากวันสิ้นสุดแห่งสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาโดยให้ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ได้ทวงถามให้ธนาคารชำระเงินประกันตามหนังสือค้ำประกันซึ่งธนาคารได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วคดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาซื้อขาย ในข้อ 9 อีกหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวข้อ 8 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญา โดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้นผู้ขายยอมรับผิดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้สัญญานี้ด้วย” และข้อ 9 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ ฯลฯ” เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 8 เป็นการกำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ส่วนตามสัญญาข้อ 9 เป็นการกำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยยินยอมให้ผู้ขายนำสิ่งของที่ขายตามสัญญามาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อต่อไป ผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันจากผู้ขายได้ คดีนี้จำเลยผู้ขายไม่ได้ส่งมอบสิ่งของที่ขายให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินประกันจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันซึ่งธนาคารได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลยตามสัญญาข้อ 9 ได้อีก
พิพากษายืน

Share