แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ บ. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,500 บาท แล้ว ในวันเดียวกัน บ. นำสร้อยคอทองคำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 11,437 บาท ส่วน ส. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,603 บาท แล้วนำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 10,000 บาท การที่ บ. และ ส. ขายทองคำที่ได้รับมาไปในทันที โดย บ. และ ส. ต้องผ่อนชำระวันละ 95 บาท เป็นเวลา 174 วัน และ 175 วัน ตามลำดับ เชื่อได้ว่า บ. และ ส. ต้องการเงินจากบริษัท จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาเช่าซื้อทองคำไว้เป็นของตน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินมิใช่การเช่าซื้อ แม้มีการทำสัญญาเช่าซื้อก็เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่แท้จริง โดยการกู้ยืมเงินดังกล่าวคิดผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 80 ต่อปี เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมสองกระทง จำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด สาขามหาสารคาม วันที่ 9 มกราคม 2547 นางบุญหนา ได้รับทองรูปพรรณ 2 เส้น น้ำหนักรวม 1 บาท 50 สตางค์ จากจำเลยทั้งสองโดยให้นางบุญหนาทำสัญญาเช่าซื้อให้ไว้แก่บริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด เป็นเงิน 16,500 บาท ซึ่งต้องผ่อนชำระวันละ 95 บาท รวม 174 วัน ตามสัญญาเช่าซื้อ วันที่ 14 มกราคม 2547 นางสีใคร ได้รับทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท 50 สตางค์ 1 เส้น จากจำเลยทั้งสองโดยให้นางสีใครทำสัญญาเช่าซื้อให้ไว้แก่บริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด เป็นเงิน 16,274 บาท ซึ่งต้องผ่อนชำระวันละ 95 บาท รวม 175 วัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ การที่คนทั้งสองต้องชำระเงินแก่บริษัทเจนเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด ถึง 16,500 บาท และ 16,603 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อตามลำดับ ที่ต้องผ่อนชำระรายวันรวม 174 วัน และ 175 วัน ซึ่งไม่ถึง 6 เดือน เป็นราคาที่สูงกว่าราคาทองที่แท้จริงประมาณร้อยละ 40 หรือหากจะคิดเทียบกับดอกเบี้ยรายปีก็จะเป็นอัตราประมาณร้อยละ 80 ต่อปี ย่อมไม่น่าเชื่อว่านางบุญหนาและนางสีใครต้องการซื้อทองรูปพรรณในราคาสูงผิดปกติมากถึงร้อยละ 40 เช่นนี้ หรือต้องการจะเช่าซื้อโดยต้องเสียค่าเช่าซื้อที่รวมดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 80 ดังกล่าว และเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่นางบุญหนาและนางสีใครขายทองคำที่ได้รับมาไปทันทีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านางบุญหนาและนางสีใครต้องการเงินจากบริษัทดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีเจตนาเช่าซื้อทองคำไว้เป็นของตนแต่อย่างใด ดังนั้น นิติสัมพันธ์ที่แท้จริงในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินมิใช่การเช่าซื้อ แม้มีการทำเป็นสัญญาเช่าซื้อไว้ดังกล่าวก็เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่แท้จริงเท่านั้น โดยการกู้ยืมเงินดังกล่าวคิดผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 80 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง กับให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30