คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยแบ่งสินสมรสที่ดินโฉนดเลขที่ 36122 เลขที่ดิน 21 อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้จำเลยชำระราคาที่ดินครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 100,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2556 ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงิน 700,000 บาท และนับแต่วันฟ้องแย้งไปทุกเดือน เดือนละ 100,000 บาท จนกว่าจำเลยจะถึงแก่ความตายหรือสมรสใหม่
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 30,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถึงแก่ความตายหรือสมรสใหม่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกันและจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายที่เมืองมอนเทอเร่ย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2557 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์แถลงว่า โจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พิพากษาให้โจทก์หย่ากับจำเลยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองไม่พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ฟ้องอีกต่อไป เพราะระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันไปตามกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายตามสัญชาติของโจทก์และเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน โดยโจทก์ได้นำสืบถึงเหตุผลตามกฎหมายของสัญชาติโจทก์ที่อนุญาตให้คู่สมรสฟ้องหย่าได้ ตามรายละเอียดที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียพร้อมคำแปล จึงต้องถือว่าโจทก์ได้พิสูจน์กฎหมายของสัญชาติโจทก์โดยชัดแจ้งเป็นที่พอใจแก่ศาลแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำพยานผู้เชี่ยวชาญของประเทศโจทก์มานำสืบอีกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย คดีนี้จึงต้องใช้กฎหมายต่างประเทศมาบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 8 ไม่อาจใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับ เมื่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องพิจารณาว่าจะให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยอีกหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ไม่ได้ระบุถึงแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้ว พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือ โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดีศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 36122 อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์ซึ่งถูกเรียกร้องให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู คำพิพากษาศาลล่างในส่วนนี้ไม่ชอบ เห็นว่า เหตุที่ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย ก็เพราะไม่มีประเด็นเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยจำเลยขาดนัด ส่วนคดีนี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องและฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share