คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง
แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยจำเลยทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยทั้งสี่ค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 22,083,004.19 บาท พร้อมดอกเบี้ย และตกลงจะชำระหนี้เป็นไปตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กับตกลงชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความแก่โจทก์ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันที
วันที่ 27 ตุลาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมต่อศาล ผู้ร้องไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสี่ได้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี อีกทั้งผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมก็ยังมิได้ตั้งเรื่องบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสี่ เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ได้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดีเพราะใกล้จะหมดอายุความในการบังคับคดีแล้ว อันเป็นพฤติการณ์พิเศษ ขอให้มีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 180 วัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากหนี้ประธานพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ยังคงมีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินจำนองได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีตามคำร้อง ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องและมีเหตุที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้อง ที่ผู้ร้องนำสืบได้ความว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยในขณะที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดำเนินการชำระบัญชี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมาโดยชอบตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิ และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันยื่นคำร้องและล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ กรณีจึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ และเมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องว่า ขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาในการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังมิได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดีแต่อย่างใด ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้องออกไปได้ แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่คู่ความฟัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องออกไป 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ให้แก่คู่ความฟัง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share