แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า สัญญาตกลงชัดเจนว่าไม้สักทองเนื้อเดียวปิดด้านบนไม้หนา 4 มิลลิเมตร โดยคู่สัญญาไม่เคยมีการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตีความสัญญาตามความประสงค์ในทางสุจริตและพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เห็นว่า ในการวินิจฉัยดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคของไม้ โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นไม้สักสลับชั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันในการตรวจรับไม้โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้แทนของผู้จัดการโครงการมาตรวจสอบลายไม้ที่เป็นลายตรงและลายภูเขา ซึ่งผู้ตรวจสอบไม้ดังกล่าวได้ยอมรับไม้สักสลับชั้น อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อตกลงในสัญญา แม้เป็นการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมาย แต่การจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จำต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์โต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนั้นชื่อของสัญญาดังกล่าวยังปรากฏชัดว่าเป็นสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แท้จริงของคู่สัญญาแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลสั่งรวมการพิจารณา เพื่อความสะดวกในการพิพากษาให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.แอนด์ พี. อุตสาหกรรมไม้ หรือบริษัทเอส.แอนด์ พี. อุตสาหกรรมไม้ จำกัด ทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง ให้เรียกบริษัทเกรส ไอวอรี่ จำกัด ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกบริษัทฤทธา จำกัด ว่า ผู้คัดค้านที่ 2
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินจำนวน 16,640,120.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,894,240.15 บาท และให้ผู้คัดค้านที่ 2 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับจากวันที่ยื่นคำร้องจนกว่าผู้คัดค้านทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 วางเงินชำระแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องรับเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 วางต่อศาลและขอถอนคำร้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 และจำหน่ายคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2
สำนวนที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินค่าว่าจ้างค้างชำระจำนวน 8,260,365.15 บาท ชำระค่าจ้างในส่วนการดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมจำนวน 3,633,875 บาท รวมเป็นเงิน 11,894,240.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจำนวน 5,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจขายไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของโครงการอาคารที่พักอาศัย “สุโขทัย เรสซิเด้นซ์” ตั้งอยู่ที่ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ว่าจ้าง และผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับจ้างหลัก ออกหนังสือแจ้งการชนะประกวดราคา (Letter of Award) ตกลงให้ผู้ร้องจัดหาและส่งมอบไม้สักสลับชั้นสำหรับปูพื้น (Teak Engineering Floor) เพื่อติดตั้งก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของผู้คัดค้านที่ 1 มูลค่า 61,968,000 บาท ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 63/2554 และ 72/2555 ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยข้อพิพาท วันที่ 8 มิถุนายน 2559 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องรับผิด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างงาน จัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้นสำหรับปูพื้นและงานชิ้นส่วนประกอบสำหรับโครงการก่อสร้างอาคารชุด เดอะ สุโขทัย เรสซิเด้นซ์ ณ แปลงทิศใต้ ข้อ 7.1 (เอ็น) ระบุว่า ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทระหว่างผู้รับจ้างหลักกับผู้จัดหาไม่ว่าในเรื่องใด ๆ จะต้องนำเรื่องดังกล่าวให้ผู้จัดการโครงการพิจารณา คำชี้ขาดของผู้จัดการโครงการถือว่าเป็นอันยุติชั่วคราว แต่ผู้จัดหา (คือ ผู้ร้อง) อาจนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่อนุญาโตตุลาการได้ตามเงื่อนไขข้อ 11.0 ของสัญญารับจ้างช่วง และสัญญารับจ้างช่วง ข้อ 7.1 (แอล) ระบุว่า ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นจากสัญญารับจ้างช่วงอาจเข้าสู่การอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ดังนั้น ปัญหาว่าผู้ร้องส่งมอบพื้นไม้สักถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้นดังกล่าว คำชี้ขาดของผู้จัดการโครงการเป็นเพียงการยุติข้อพิพาทไว้ชั่วคราวเท่านั้น ฝ่ายผู้จัดหา (คือ ผู้ร้อง) ยังคงมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยได้ว่าคู่สัญญาฝ่ายใดผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า สัญญาตกลงชัดเจนว่าไม้สักทองเนื้อเดียวปิดด้านบนไม้หนา 4 มิลลิเมตร โดยคู่สัญญาไม่เคยมีการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าคู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียว มีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตีความสัญญาตามความประสงค์ในทางสุจริตและพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เห็นว่า ในการวินิจฉัยดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคของไม้ โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นไม้สักสลับชั้นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันในการตรวจรับไม้โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้แทนของผู้จัดการโครงการมาตรวจสอบลายไม้ที่เป็นลายตรงและลายภูเขา ซึ่งผู้ตรวจสอบไม้ดังกล่าวได้ยอมรับไม้สักสลับชั้น อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อตกลงในสัญญา แม้เป็นการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมาย แต่การจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จำต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์โต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนั้นชื่อของสัญญาดังกล่าวยังปรากฏชัดว่า เป็นสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าคู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แท้จริงของคู่สัญญาแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติให้ศาลยอมรับบังคับหรือปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ไม่ต้องระบุเนื้อหาของคำชี้ขาดนั้นอีก ทั้งศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนที่ 2 ด้วย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 63/2554 และ 72/2555 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 38/2559 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 และให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้เป็นพับ