คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11520-11521/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร การที่จะพิจารณาว่าผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่เต็มใจนั้น ต้องพิจารณาเจตนาภายในใจของผู้เยาว์ คดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีเจตนาไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปเองตามลำพัง จำเลยที่ 1 มิได้บังคับผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้จะถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283, 310, 318, 91, 83 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9, 12 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (1), 78 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 10, 52 นับโทษจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังต่อจากโทษในสำนวนแรก
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสอง, 319 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง และวรรคสี่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ให้จำคุกคนละ 5 ปี ส่วนความผิดที่เหลืออีก 3 ฐานนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 20 ปี รวมเป็นจำคุกคนละ 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เฉพาะความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณี ร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ร่วมกันกระทำหรือละเว้นกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 เกิดวันที่ 17 มิถุนายน 2535 เป็นบุตรผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 1 ตอนเรียนผู้ช่วยพยาบาลที่สถานศึกษาภูมินทร์บริบาล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จำเลยทั้งสองเดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซีย วันที่ 24 มิถุนายน 2552 ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียทางด่านสะเดา จังหวัดสงขลา โดยจำเลยทั้งสองไปรับ จำเลยที่ 1 เดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 27 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 2 เดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ผู้เสียหายที่ 1 ถูกส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 โดยมีการกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปขายบริการทางเพศที่ประเทศมาเลเซีย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ทราบว่าต้องเดินทางไปค้าประเวณีก็คงไม่ยอมไปกับจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่กรณีผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจยินยอมให้จำเลยทั้งสองพรากไปจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรกและวรรคสามนั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่เต็มใจนั้น ต้องพิจารณาถึงเจตนาภายในใจของผู้เยาว์ คดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีเจตนาไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปเองตามลำพัง จำเลยที่ 1 มิได้บังคับผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้จะถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปหาได้ไม่ ส่วนการหากำไรหรือการอนาจารนั้นเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากการพรากผู้เยาว์สำเร็จผลไปแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรกและวรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 12 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก มาตรา 26 (1) นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้แยกตัวออกไปขณะพักที่โรงแรมรีเกิ้ลอันเป็นโรงแรมที่พักแห่งแรก เหตุกระทำความผิดตามที่โจทก์ฎีกานั้นเกิดจากการกระทำของชายชาวจีนในวันอื่น ๆ ต่อมา อันเป็นภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองแยกตัวออกไปแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้เกี่ยวข้องกระทำความผิดโดยใกล้ชิดในลักษณะเป็นตัวการด้วย ดังนั้นจึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share